กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--midas pr
หลังจากมีกระแสข่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนเดินหน้านโยบาย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งกำหนดให้มีการจำกัดการใช้งานสารไกลโฟเซต หรือยาฆ่าหญ้า ในบางพื้นที่อย่างเข้มงวด กลุ่มเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆในประเทศไทยจึงได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และเปรียบเทียบทั้งข้อดี ข้อเสีย จากมาตรการดังกล่าว ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำประกาศของรัฐบาล
ในครั้งนี้เราลงพื้นที่ มายัง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เพื่อไปรับฟังปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเกษตรกรสวนปาล์ม โดยคุณศุภชัย โชติชัยชรินทร์ กรรมการบริษัทพิธานปาล์มพัฒนา ได้ระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับรูปแบบการทำการเกษตรของครอบครัวที่มีการใช้สารไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืชมาตลอด โดยระบุว่าตามธรรมชาติของสวนปาล์ม การกำจัดวัชพืชไม่ได้มีความถี่มาก นอกจากนั้นปาล์มยังเป็นพืชที่มนุษย์บริโภคในลักษณะของน้ำมันที่ผ่านการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว เขามั่นใจว่าไกลโฟเซตที่อยู่ในดินจากการเตรียมแปลงก่อนปลูกปาล์ม ไม่น่าจะส่งผลกระทบเป็นนัยยะสำคัญที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้
ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมาก สำหรับปาล์มโอกาสที่จะมีเรื่องสารเคมีที่ถูกดูดขึ้นไปถึงผลนั้นอาจจะเป็นไปได้น้อย
เกษตรกรสวนปาล์มท่านนี้กล่าวเสริมอีกว่า ปัจจุบันสวนปาล์มใช้วิธีพ่นยาฆ่าหญ้า ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่สะดวกและรวดเร็ว หากมีการจำกัดการใช้งานไกลโฟเซตตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดจริง เกษตรกรน่าจะต้องหันมาใช้วิธีถอนหญ้าด้วยการจ้างแรงงาน หรือใช้รถไถ ซึ่งไม่น่าจะทำได้หากต้องการผลผลิตตามเป้าหมาย ทั้งปลูก และตัดขายได้ทันตามช่วงเวลาที่กำหนด
และการจ้างคนเป็นต้นทุนสูงกว่าการใช้ยาแน่นอน แต่ต้นทุนที่มากกว่าคือเรื่องของเวลา โดยเฉพาะอย่างสวนใหญ่ๆ กว่าจะใช้คนถอนหญ้าจนหมดก็คงปลูกพืชได้ช้าลง ผลผลิตที่เก็บได้ช้าก็จะกลับมาเป็นรายได้ที่ช้า ส่วนนี้เขาคิดว่า แทนที่ภาครัฐจะบอกไม่ให้ใช้ ให้มองมุมต่างว่ามาช่วยกันดูถึงผลดี ผลเสียแล้วเปรียบเทียบกัน ทำข้อมูลออกมาดูจริงๆว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรจะเป็นอย่างไร และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่
ทั้งนี้ องค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป European Food Safety Authority (EFSA) ระบุว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสหภาพยุโรปมีมติให้ต่ออายุทะเบียนไกลโฟเซตอีก 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขการจำกัดการใช้หรืออื่นใด