หญ้าทะเล...หอยชักตีน พลังอนุรักษ์ของชุมชน “ท่าแป๊ะโย้ย”

ข่าวทั่วไป Wednesday October 3, 2007 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สกว.
อ่าวหน้าชุมชนท่าแป๊ะโย้ย ท่าเรือ
แม้ว่าชุมชนท่าแป๊ะโย้ยซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 แต่ชาวบ้านซึ่ง ที่อาศัยอยู่ตลอดแนวชายฝั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพี่น้องเชื้อสาย “มอแกน” และดำรงชีวิตด้วยการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลิงทะเล และหอยชักตีนกลับได้รับผลกระทบอย่างมาก
วิถีชาวมอแกน ธนพล แซ่เด้ง ผู้ใหญ่บ้านชุมชนท่าแป๊ะโย้ย
หญ้าทะเลมีความสำคัญของต่อระบบนิเวศ รากของมันช่วยลดการพังทลายของหน้าดินบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งช่วยปรับสภาพน้ำทำให้อินทรีย์วัตถุ และดินตกตะกอน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและสะสมแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อาศัย และใช้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์น้ำบางชนิด และสำหรับแหล่งหญ้าทะเลหน้าหาดท่าแป๊ะโย้ย เป็นแหล่งอาหารของหอยชักตีน และ ปลิงทะเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวมอแกนตั้งชุมชนอยู่ด้านเหนือของหมู่บ้าน
“อ่าวหน้าชุมชนท่าแป๊ะโย้ย มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิด คลื่นลมค่อนข้างสงบ เหมาะสำหรับหญ้าทะเลซึ่งมักจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเค็มและค่อนข้างใส ที่ผ่านมาชุมชนพื้นที่บริเวณหน้าหาดมีหอยชักตีน และปลิงทะเล อาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ชาวบ้านพี่น้องมอแกนที่อาศัยอยู่บนเกาะสามารถเก็บไปขายเลี้ยงชีพได้ แต่ตอนเกิดสึนามิ แรงกระเพื่อมของคลื่นได้พัดพาเอาหญ้าทะเลออกไปจากหน้าหาดจนหมด พอไม่มีหญ้าทะเล สัตว์น้ำจำพวกหอยชักตีน และปลิงทะเล ในบริเวณหน้าหาดจึงลดน้อยลงไปด้วย...” สุกิจ นาคตาขุน ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพังงา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะพระทอง
“ตอนแรกก็ลำบาก เพราะเขาไม่มีอาหาร ก็เลยมานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรจึงจะฟื้นแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาได้ พอดีทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.พังงา ซึ่งช่วยเราทำงานกันมานาน เข้ามาชวนคุยถึงแนวทางในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ตอนแรกไม่ค่อยแน่ใจว่าจะทำได้แต่ก็คิดว่าน่าจะลองดู...” ธนพล แซ่เด้ง ผู้ใหญ่บ้านชุมชนท่าแป๊ะโย้ยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการฟื้นความอุดมสมบูรณ์บนหน้าหาด
แปลงปลูกหญ้าทะเล หญ้าทะเล
แกนนำชุมชนท่าแป๊ะโย้ย เริ่มต้น “ฟื้นฟู” แหล่งหญ้าทะเลด้วยการสำรวจแหล่งหญ้าทะเลทั้งในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งพบว่า หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ตำแหน่งของแหล่งหญ้าทะเลเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิม เพราะในขณะที่หญ้าทะเลในอ่าวชุมชนท่าแป๊ะโย้ยมีปริมาณน้อยลง กลับพบว่าบริเวณอ่าวของชุมชนบ้านบางติบซึ่งมีที่ตั้งติดทะเลอยู่คนละด้านกับเกาะพระทองเดิมไม่เคยมีแหล่งหญ้าทะเลมาก่อนหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิมีแหล่งหญ้าคาทะเลเกิดขึ้น และมีหอยชักตีนปริมาณมาก รวมทั้งบริเวณอ่านซึ่งตั้งอย่างทิศเหนือของแพปลาคุระบุรี ก็มีแหล่งหญ้าที่ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นเช่นกัน
แม้ข้อมูลจากการสำรวจจะชี้ให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของชุมชน แต่นั่นก็ไม่ทำให้ “ความตั้งใจ” ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลของคนท่าแป๊ะโย้ยสั่นคลอน พวกเขามานั่งล้อมวงพูดคุยกันเพื่อวางแผนในการฟื้นฟู
โดยเริ่มจากการห้ามเก็บหอยชักตีน และจับปลิงทะเล ในเขตอนุรักษ์อันเป็นพื้นที่บริเวณหน้าหาดประมาณ 70 ไร่ ซึ่งเดิมชุมชนกันพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตอนุรักษ์ของชุมชน ชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำในบริเวณนี้ได้ แต่ต้องใช้วิธีการจับที่ไม่ทำลายล้าง และวิธีการแบบยั่งยืนตามกฏเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชุมชนร่วมกันกำหนด
ในขณะเดียวกันชุมชนยังช่วยฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลด้วยการ “ปลูกเพิ่ม” แต่การปลูกหญ้าทะเลในระยะแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ชาวบ้านพบว่าหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก ลำพังความรู้ในชุมชนไม่เพียงพอ จึงไปขอความรู้จากนักวิชาการเพิ่มเติม ทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้วหญ้าทะเลนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และสัตว์น้ำที่แตกต่างกันออกไป ชาวบ้านจึงนำเอาความรู้เหล่านี้มาศึกษา “หญ้าทะเล” ที่มีอยู่ในชุมชนร่วมกันอีกครั้ง เมื่อสามารถจำแนกชนิด และความสำคัญของหญ้าทะเลได้แล้ว ชาวบ้านได้เลือกปลูก“หญ้าคาทะเล” เนื่องจากเป็นชนิดหญ้าทะเลที่มีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าหญ้าทะเลชนิดอื่นๆ อีกทั้งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอีกด้วย
ส่วนวิธีการปลูกหญ้าทะเลที่ชาวบ้านค้นพบ ก็คือ นำหญ้าทะเลที่ขึ้นเป็นกอ มาแยกเป็นต้นเดี่ยวๆ และนำเชือกฝางฉีกเป็นเส้นบาง ๆ ผูกยึดกับหลักไม้ไผ่ผ่าซีก ยาว 50 เซนติเมตร นำไปปลูกโดยฝังลึกลงไปจากผิวหน้าดินไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร กดไม้ไผ่ให้จมลงไปพร้อมกับกลบดินให้เหมือนเดิม...เพียงเท่านี้หญ้าก็เจริญเติบโตได้ดีและไม่ถูกคลื่นซัดจนหลุดออกจากทราย
นอกเหนือจากสองกิจกรรมในข้างต้นแล้ว ชาวบ้านได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องหญ้าทะเลแก่เด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสเยาวชน และนักเรียนโรงเรียนเกียรติประชาลงไปเรียนรู้ชีวิตสัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล ทั้งชนิดของหญ้าทะเล ลักษณะโครงสร้าง วงจรสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเล โดยมีข้อแม้ว่าเด็กๆ ที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมต้องเอาความรู้ที่ได้กลับไปคุยให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ฟัง พร้อม ๆ กับการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการอาชีพประมงพื้นบ้าน หญ้าทะเล หอยชักตีน ปลิงทะเล ในชุมชนตัวเองจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่เพิ่มเติมด้วย
ถึงวันนี้...ความตั้งใจจริงของชาวบ้านเริ่มปรากฏผล ปริมาณหญ้าทะเลหน้าหาดท่าแป๊ะโย้ยหนาแน่นขึ้น ดึงดูดให้ปลิงทะเล และหอยชักตีน รวมทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ปลากะพงแดง ปลาเก๋าและปูม้า เข้ามาอาศัยอยู่อีกครั้ง ทำให้พี่น้องมอแกน และชาวบ้านในชุมชน จับสัตว์น้ำได้ปริมาณมากขึ้น มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ กระบวนการเหล่านี้ได้เชื่อมโยงให้คนในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน อันนำไปสู่การเกิดสำนึกรักษ์ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ของบ้านตนเองอย่างรู้คุณค่า
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 0-2270-1350-4 ต่อ 109

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ