กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นายประชา พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายให้แต่ละสำนักงานเขตนำเสนอและจัดทำนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเป็นการพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งได้กำหนดให้ภายใน 100 วัน ทั้งนี้สำนักเขตตลิ่งชัน จึงได้นำเสนอโครงการจัดทำทางเดินแม่เหล็กสำหรับคนพิการทางสายตา จากถ่านอัลคาไลน์ที่ใช้แล้ว โดยนำร่องพื้นที่บริการประชาชนที่สำนักงานเขตตลิ่งชัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย (Thailand Association of the Blind) และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้ทำการวิจัยอิฐทางเดินแม่เหล็กสำหรับคนพิการทางสายตา ซึ่งทำจากถ่านไฟฉายอัลคาไลน์ที่ใช้แล้ว มาร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ ทั้งนี้นอกจากช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังเป็นการช่วยลดขยะอีกด้วย
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า มจธ. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยการนำถ่านไฟฉายอัลคาไลน์ที่เสื่อมสภาพมาสังเคราะห์เป็นผงสารแม่เหล็ก ที่มีคุณสมบัติด้านความแข็ง และมีความคงทนไม่ละลายน้ำ นำมาผสมในสีทาบ้าน ทาฉาบพื้นผิวที่เป็นทางเดิน โดยใช้งานร่วมกับไม้เท้านำทางที่มีผงแม่เหล็กที่บริเวณปลายไม้เท้า ในการนำทางเมื่อปลายไม้เท้าแตะหรือสัมผัสพื้นผิวทางเดินที่ทาด้วยสีผสมสารแม่เหล็ก จะสามารถรับรู้ด้วยระบบสั่น และระบบเสียงเตือนที่ไม้เท้านำทาง สร้างความมั่นใจให้กับคนพิการ มจธ.ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาพร้อมกับร่วมสร้างทางเดินแม่เหล็กสำหรับคนพิการทางสายตาเป็นระยะทาง 20 เมตร ณ จุดให้บริการสำนักงานเขตตลิ่งชั่น เพื่อรองรับคนพิการทางสายตาที่เดินทางเข้ามารับบริการในสำนักงานเขตตลิ่งชัน แทนการสร้างปุ่มบนผิวอิฐทางเดิน ทำให้คนพิการและคนทั่วไปสามารถใช้ทางเดินร่วมกันได้ ไม่สะดุดกับพื้นผิวที่ไม่เรียบ ซึ่งการสร้างทางเดินแม่เหล็กสำหรับคนพิการทางสายตาที่สำนักงานเขตตลิ่งชันถือเป็นพื้นที่ให้บริการแห่งแรกในการสร้างทางเดินแม่เหล็กอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งสามารถเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการสร้างทางเดินแม่เหล็กและไม้เท้านำทางสำหรับคนพิการทางสายตา สำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป