กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--หอการค้าไทย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย ที่ระบุว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 2-15 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้รับข้อร้องเรียนและข้อกังวลจากสมาชิก ซึ่งได้พิจารณาแล้วมีความคิดเห็นเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีของกระทรวงแรงงาน ดังนี้
1. รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง (Skill Labor) เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าค่าจ้างแรงงานประจำปี โดยได้มีการประกาศใช้กฎหมายพัฒนาส่งเสริมฝีมือแรงงาน และกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 67 สาขา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีทั่วประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ให้นำนวัตกรรมมายกระดับธุรกิจของตนผ่านนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้น การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีควรปรับให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน
2. คณะกรรมการ กกร. เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี แต่การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีไม่ควรกำหนดในลักษณะอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจาก สภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและความจำเป็นของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด (ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด)"พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของแต่ละจังหวัดนั้นๆ จากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างแรงงานประจำปี เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคม รายได้ประชาชาติต่อหัว สภาพ/จำนวนการจ้างงาน ประเภทและขนาดของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันมาก เป็นต้น
3. การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน อาทิ ผลกระทบผู้ประกอบการ SME และภาคการเกษตร โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 มีการจ้างงานหรือผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.72 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำในภาคเกษตร จำนวน 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต จำนวน 14.79 ล้านคน และภาคบริการและการค้า จำนวน 10.88 ล้านคน
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะการจ้างงานในส่วนภาคการผลิต และภาคบริการและการค้า มีจำนวนรวม 25.67 ล้านคน มาพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจสำมโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 และข้อมูลจัดตั้งธุรกิจ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จำนวนการจ้างงานดังกล่าวข้างต้น มีส่วนของการจ้างงาน 11.7 ล้านคน โดยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 3 ล้านรายรวมอยู่ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาร่วมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 12.5 ล้านคน ที่มิได้รับผลประโยชน์จากการปรับค่าแรงโดยตรงและอาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาล ต้องพิจารณาให้การปรับอัตราค่าจ้างครั้งนี้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และผู้ทำงานภาคเกษตรน้อยที่สุด
4. สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาปัจจัยหลายประการที่ยังมีความผันผวนอยู่ อาทิ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไป อาจจะเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศได้
5. ภาครัฐ ควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทยเพื่อรองรับ Thailand 4.0
ทั้งนี้ คณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. และสมาชิกผู้ประกอบการทุกพื้นที่ยังเห็นพ้องกันว่า "ควรมีการปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีในประเทศไทย" แต่ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศและไม่สูงเกินไป รวมทั้ง การปรับขึ้นค่าแรง ควรเป็นไปตามความสามารถฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และทักษะของแรงงาน โดยยึดหลักในการปรับค่าแรงงานประจำปีที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง