ซีพีเอฟไม่กังวล แม้ไม่ได้เอดีสหรัฐฯ มั่นใจส่งออกรุดหน้าต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Friday November 4, 2005 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--ซีพีเอฟ
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (Adirek Sripratak, President & CEO of Charoen Pokphand Foods Public Company Limited) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่มีการทบทวนมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้ง หรือเอดีสินค้ากุ้ง ให้กับประเทศที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ในช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของซีพีเอฟแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราภาษีเอดี ของสหรัฐฯ ที่ต้องเสียก็ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 5.95 เหมือนเดิม
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบการเลี้ยงและกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecure System) เน้นการควบคุมและจัดการเพื่อป้องกันมิให้โรคและพาหะนำโรคกุ้งทุกชนิดเล็ดลอดเข้าสู่ระบบการเลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการฟาร์มกุ้งแบบปลอดสาร ที่เรียกว่า Probiotic Farming โดยเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมภายในบ่อกุ้ง ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อกุ้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันไม่ให้กุ้งเกิดโรค เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา ที่เรียกว่า Traceability ด้วย
นายอดิเรก กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ กุ้งในตลาดโลกก็มีไม่มาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคากุ้งไทยในสหรัฐฯ สูงขึ้นราว 20-30 % ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังมีตลาดสหภาพยุโรป หรืออียู.รองรับด้วย โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกไปอียู.ได้ถึง 6,000 ตัน จากปี 2547 ที่มีเพียง 2,000 ตัน ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ จึงยังมั่นใจว่า ในปี 2548 จะสามารถส่งออกกุ้งโดยรวมในทุกตลาด ประมาณ 45,000 ตัน จากเดิม 12,000 ตัน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งก็จะเติบโตตามไปด้วย
ทั้งนี้ อินเดีย เสียภาษีเอดีที่ร้อยละ 10 บราซิล เสียภาษีเอดีที่ร้อยละ 7.05 ไทย เสียภาษีเอดีที่ร้อยละ 5.95 เอกวาดอร์ มีภาษีเอดีที่ร้อยละ 2.35-4.48
สำนักสารนิเทศ ซีพีเอฟ โทรศัพท์ 0-2625-7344-5--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ