กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสถานีสีเขียว ตอน "เปลี่ยนขยะเป็นขุมทรัพย์ ยิ้มรับโลกสวย" ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 ในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ผ่าน 5 ฐานกิจกรรม หวังปลูกฝังเยาวชนในการคัดแยกขยะชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เนื่องในกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 วว. ได้จัดกิจกรรมสถานีสีเขียว ตอน "เปลี่ยนขยะเป็นขุมทรัพย์ ยิ้มรับโลกสวย" ในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2561 เวลา 9.00-17.00 น. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถนนโยธี กรุงเทพฯ โดย วว. ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าวผ่าน 5 ฐานกิจกรรม เพื่อปลูกฝังเยาวชนในการคัดแยกขยะชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญในวันเด็กที่ว่า "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" ดังนี้
1.แยกขยะขายได้ราคาตามเทคนิควิทย์ใกล้ตัว การใช้วิทยาศาสตร์อย่างง่ายคัดแยกขยะกลุ่มพลาสติก โดยใช้กฏความหนาแน่น เพื่อให้นักวิทย์น้อยคัดแยกขยะได้ราคางาม
2.ถ่านหอมจากขยะ การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงคุณภาพถ่านเปลือกผลไม้ให้ดูสวยงามและมีกลิ่นหอม ใช้งานได้หลากหลาย
3.ไข่น้อยต่อยมด การใช้วิทยาศาสตร์ในการปรับปรุงเปลือกไข่ ให้สามารถไล่มดได้
4.เถ้าปั้นปรับน้ำอ่อน การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อเปลี่ยนเถ้าจากของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ให้สามารถลดความกระด้างในน้ำได้
5.เกมดิจิตอลคัดแยกขยะ...รักษ์โลก สนุกสนานเพิ่มพูนความรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ยุค 4.0
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า กิจกรรมสถานีสีเขียว ตอน "เปลี่ยนขยะเป็นขุมทรัพย์ ยิ้มรับโลกสวย" ที่ วว. นำมาถ่ายทอดให้ความรู้กับน้องๆในครั้งนี้ เป็นองค์ความรู้ซึ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา "โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน" ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาขยะชุมชนในพื้นที่วิกฤตที่มีปัญหาขยะล้นเมือง โดยนำผลงานด้าน วทน. มาถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องคัดแยกขยะ ที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ และใช้เทคโนโลยีเพื่อคัดแยกชนิดพลาสติกที่กองทิ้งในปัจจุบัน ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ปุ๋ยหมัก และพลังงานสะอาดหรือพลังงานจากก๊าซชีวภาพ ร่วมกับการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมนโยบายจากรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการขยะโดยใช้หลักการ 3Rs ร่วมกับการจัดการสิ่งแวดล้อม