กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กระทรวงพลังงาน
พลังงาน จ.หนองบัวลำภู หนุนใช้พลังงานทดแทนช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการใช้พลังงานเพื่อการเกษตร และมีน้ำใช้ตลอดปี ผ่านโครงการระบบสูบน้ำด้วยแสงอาทิตย์เพื่อการปลูกผักอินทรีย์ ผลักดันชุมชนเกิดความเข้มแข็งด้านพลังงาน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ที่ยั่งยืน
สำนักงานพลังงานจังหวัดหนองบัวลำภู กระทรวงพลังงาน เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการผ่านโครงการระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการปลูกผักอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการตนเองด้านพลังงาน ลดต้นทุนการใช้พลังงานเพื่อการเกษตร เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี เพื่อสร้างอาชีพในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นายชัยรัตน์ พงศ์พีระ รักษาราชการพลังงานจังหวัดหนองบัวลำภู กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการปลูกผักอินทรีย์ ที่โคกสาธารณะดอนงู บ้านโพธิ์ศรีสำราญ ตำบลหัวนา อำเภอเมือง เป็นการขยายผลการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานให้แก่เกษตรกร ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการเกษตร รวมทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี เกิดอาชีพเสริมและรายได้ต่อเนื่องในฤดูแล้ง ซึ่งยังสามารถใช้น้ำเพื่อการทำการเกษตรได้
ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดหนองบัวลำภู ได้จัดหาและติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหอถังเก็บน้ำให้กลุ่มเกษตรผู้ใช้น้ำ และการเดินท่อน้ำเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่แปลงผักอินทรีย์ของสมาชิกซึ่งมีการรวมกลุ่มกันตั้งขึ้น รวมทั้งยังได้ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงความเข้าใจโครงการ ฯ กับกลุ่มการเกษตรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างยั่งยืน ได้มีการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลตำบลหัวนา และ สวทช. โดยได้จัดอบรมการใช้ การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และได้ส่งมอบระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ดังกล่าว ให้แก่กลุ่มเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาต่อไป
นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันการดำเนินโครงการ ฯ ได้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ สมาชิกในกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ จำนวน 38 ครัวเรือน เกิดอาชีพเสริมได้ตลอดทั้งปีและลดการว่างงาน ลดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพที่อื่น โดยมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 บาทต่อคนต่อวัน และที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการสูบน้ำ เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานของคนชุมชน ชุมชนใกล้เคียง และผู้ที่สนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่นอกชลประทานอีกด้วย