กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กนร.
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 พ.ย. 2550) การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธาน ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการ ดังนี้
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานการจัดตั้งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ให้มีความเหมาะสมและเป็นมาตรฐาน ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ฯ บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ดังต่อไปนี้
(1) การจัดตั้ง /ร่วมทุนต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ (2) การจัดตั้ง/ร่วมทุนต้องไม่ดำเนินกิจการที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในกรณีต่อไปนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในกรณีที่ที่มีปัญหาด้านการเงิน และมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อนำความเชี่ยวชาญไปสร้างรายได้เพิ่มเติมในต่างประเทศ และเพื่อจัดหาเทคโนโลยีหรือต้องการความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ (3) บริษัทในเครือต้องดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ (4) บริษัทในเครือต้องไม่มีอำนาจผูกขาดและสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจแม่ (5) บริษัทในเครือต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับภาคเอกชน เว้นแต่ความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค (6) บริษัทในเครือต้องไม่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้า หรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพ อนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ (7) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงและ/หรือเพิ่มเติมกิจการ จะต้องขอความเห็นชอบตามขั้นตอนการขออนุมัติการจัดตั้ง/ร่วมทุน นอกจากนี้ การจัดตั้ง/ร่วมทุน บริษัทในเครือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในทุกกรณี ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ร่วมทุนในบริษัทที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ
2.เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รัฐไม่มีนโยบายให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีผลทำให้บริษัทฯ นั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น กรณีกองทุนประกันสังคมเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจัดหาประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งเงินกองทุนฯ มาจาก 3 ฝ่าย คือ เงินสมทบจากรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน
ในการนี้ กนร. มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้กองทุนประกันสังคม สามารถเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนได้ และไม่ทำให้กลายสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ
3. เห็นชอบในหลักการของแผนปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพ โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาศึกษารายละเอียดเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ เช่น แนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรด้านขนส่ง การบริหารรายได้ แก้ไขปัญหาขาดทุน การเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ NGV เป็นต้น