กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์ ห้างสรรพสินค้า อย่างปลอดภัย โดยผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย มีป้ายแนะนำและป้ายเตือนอันตรายอย่างเคร่งครัด มีอุปกรณ์นิรภัย มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในวันเด็กแห่งชาติ ผู้ปกครองมักจะนำบุตรหลานท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บ่อยครั้งที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กขณะเที่ยวสวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์ และห้างสรรพสินค้า โดยมีสาเหตุจากความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก รวมถึงการไม่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฎิบัติในการป้องกันอันตรายกับเด็กที่เกิดจากการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้ การเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก ศึกษาข้อแนะนำในการเล่นเครื่องเล่นอย่างละเอียด เพราะเครื่องเล่นแต่ละประเภทมีข้อจำกัดของผู้เล่น เช่น อายุและความสูง เป็นต้น โดยให้เด็กเล่นเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับวัย ขนาด และรูปร่างของเด็ก รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องเล่นและดูแลความปลอดภัยในการเล่นเครื่องเล่นอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามข้อแนะนำและป้ายเตือนอันตรายอย่างเคร่งครัดพร้อมดูแลการเล่นเครื่องเล่นของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือเด็กอย่างทันท่วงที หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเครื่องเล่นที่เสี่ยงต่อการพลัดตก เช่น รถไฟตีลังกา เฮอริเคน เรือไวกิ้ง เป็นต้น เพราะเด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้เด็กเล่นเครื่องเล่นที่มีสภาพปลอดภัยอย่างระมัดระวัง โดยให้เด็กใช้อุปกรณ์นิรภัยที่ติดตั้งมากับเครื่องเล่น เพื่อป้องกันการพลัดตก ไม่ให้เด็กยื่นแขน ขา และศีรษะ ออกนอกเครื่องเล่น รวมถึงไม่เล่นเครื่องเล่นในลักษณะผาดโผนที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น ห้อยโหน ตีลังกา เป็นต้น การเล่นสวนน้ำ เลือกใช้บริการสวนน้ำที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งสระน้ำและเครื่องเล่น รวมถึงมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตและLifeguard ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้เด็กใช้อุปกรณ์ชูชีพทุกครั้งเมื่อประกอบกิจกรรมในสวนน้ำ อาทิ เสื้อชูชีพ ห่วงยาง แผ่นโฟม เพราะหากประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นตะคริว จะช่วยพยุงตัวเด็กให้ลอยตัวรอการช่วยเหลือผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยติดตั้งป้ายเตือนอันตรายบริเวณจุดเสี่ยง ป้ายแนะนำการเล่นเครื่องเล่น รวมถึงดูแลการเล่นน้ำของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเด็กต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงได้ทันทีในระยะห่างไม่เกิน 1 ช่วงแขน รวมถึงผู้ปกครองไม่ควรละสายตาจากเด็ก แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ หากเด็กจมน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดอันตรายได้ การท่องเที่ยวสวนสัตว์ ควรปฏิบัติตามป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เด็กเข้าใกล้ ยื่น แขน ขาเข้าไปในกรงสัตว์ ป้อนอาหารสัตว์ และแหย่สัตว์ให้หงุดหงิด รวมถึงไม่ให้เด็กปีนขึ้นไปบนราวเหล็กหรือขอบบ่อ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตก ทำให้ถูกสัตว์ทำร้ายได้ กรณีพาเด็กไปเที่ยวสวนสัตว์เปิด ให้ปฏิบัติตามป้ายเตือนและคำแนะนำของจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่เปิดกระจกรถและไม่ลงจากรถ เมื่ออยู่ในเขตที่มีสัตว์ป่าดุร้าย เช่น เสือ ช้างป่า สิงโต เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อการถูกสัตว์ทำร้าย การเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย อาทิ ชั้นวางสินค้า ลานจอดรถ บันไดเลื่อน รวมถึงจับมือหรืออุ้มเด็กเล็กเมื่อเดินผ่านประตูเปิด – ปิดอัตโนมัติ เพื่อป้องกันเด็กถูกประตูกระแทก อีกทั้งไม่ให้เด็กเล่นรถเข็นสินค้า หรือนำเด็กไว้ในรถเข็นสินค้า เพื่อป้องกันเด็กปีนป่ายและรถเลื่อนไถล ทำให้เกิดอันตรายได้ ดูแลการขึ้น – ลงบันไดเลื่อนของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเป็นเด็กเล็ก ควรอุ้มแทนการจูงมือ หากเป็นเด็กโต ควรจับมือเด็กให้แน่น เพื่อป้องกันการพลัดตก รวมถึงไม่ได้เด็กปีนป่ายบันไดเลื่อนหรือเอานิ้วแหย่ตามช่องต่างๆ เพราะอาจถูกบันไดเลื่อนหนีบได้รับบาดเจ็บ รวมถึงไม่ให้เด็กยื่นแขน ขา และศีรษะออกนอกราวบันไดเลื่อน เพราะอาจได้รับอันตราย