กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สนพ. ชี้แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2561 ยังคงเพิ่มขึ้น 2.1% เติบโตตาม GDP ที่สภาพัฒน์คาดไว้ที่ 3.6 - 4.6% โดยเป็นการใช้เพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่ามีการใช้ลดลง จากการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้า และ NGV ที่ลดลง
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน แจ้งว่า สนพ. โดย ศูนย์พยากรณ์และสารสนเทศพลังงาน คาดการณ์สถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปี 2561 จะมีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 2.1% หรือใช้อยู่ที่ประมาณ 2.81 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยพิจารณาจากปัจจัย ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอยู่ที่ 34 – 35 บาท/เหรียญสหรัฐ และการคาดการณ์ GDP ของสภาพัฒน์จะขยายตัวที่ 3.6-4.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวจากภาคเศรษฐกิจทั้งการส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ประชาชน โดยมีมาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2561 ที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะมีการใช้ลดลง โดยการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.1% เมื่อเทียบกับปี 2560 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ การใช้น้ำมันเพิ่ม 2.2% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าเพิ่ม 1.2% โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม การใช้ไฟฟ้านำเข้าเพิ่ม 0.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากฐานการนำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สูงในปี 2560 ส่วนก๊าซธรรมชาติลดลง 1.2% จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และการใช้ในภาคขนส่ง (NGV) ที่ลดลง
การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันเตาและ LPG โดยการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบปี 2560 (การใช้ 31.2 ล้านลิตร/วัน) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายปลีกในประเทศที่คาดว่ายังอยู่ระดับต่ำ และผู้ใช้รถ LPG หันมาใช้น้ำมันแทนอย่างต่อเนื่อง ดีเซลเพิ่ม 2.7% (การใช้ 65.5 ล้านลิตร/วัน) น้ำมันเครื่องบินเพิ่ม 4.3% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ น้ำมันเตา ลดลง 6.7% (การใช้ 5.4 ล้านลิตร/วัน) และ LPG ที่ไม่รวม Feedstock ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลดลง 1.2% (การใช้ 21.3 ล้านลิตร/วัน)
ภาพรวมการใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0% โดยการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 5.7% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5% เป็นไปตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลง 10.9% ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จากการที่ผู้ใช้บางส่วนเปลี่ยนไปใช้น้ำมันซึ่งมีราคาถูกแทน ส่วนการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น 17.8% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น
การใช้ไฟฟ้า ปี 2561 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 192,923 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก