กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ไอเวิร์คพีอาร์
โรคไตเรื้อรัง หมายถึงความผิดปกติทางด้านโครงสร้างหรือการทำงานของไตซึ่งเป็นมานานมากกว่า 3 เดือน ความผิดปกติดังกล่าวมีได้หลายลักษณะ ได้แก่ การมีโปรตีนไข่ขาว (albumin) รั่วออกมาในปัสสาวะ การมีปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีเลือดปนในปัสสาวะ การมีความผิดปกติของเกลือแร่ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากความผิดปกติในการรักษาสมดุลเกลือแร่ของไต ความผิดปกติที่พบจากการตรวจชิ้นเนื้อไต ความผิดปกติที่พบจากการตรวจทางรังสีวิทยา หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และความผิดปกติของอัตราการกรองของเสียของไต (glomerular filtration rate) ความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ก็จะนำไปสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตในที่สุด
จากการสำรวจของสมาคมโรคไตในปี พ.ศ. 2550-2551 สุ่มสำรวจประชากรตั้งแต่อายุ 18 ปี ขึ้นไปจากทั่วประเทศพบว่า มีโรคไตเรื้อรังประมาณร้อยละ 17.5 ซึ่งประมาณการจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะ (ไม่รวมผู้ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต) ประมาณ 7 ล้านคน เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังในการสำรวจครั้งนั้นทราบว่าตนเองเป็นโรคไตมาก่อนเพียงร้อยละ 1.9 จะเห็นว่าโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญและเป็นภัยเงียบเนื่องจากจะไม่แสดงอาการมาก่อนก็ได้
ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันไตโลกหรือ World kidney day ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงสุขภาพไต และในปี พ.ศ. 2561 นี้วันไตโลกตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากล ด้วย กิจกรรมวันไตโลกในปีนี้จึงเน้นการรณรงค์สุขภาพไตในสตรี ภายใต้คำขวัญเก๋ ๆ ว่า สตรีไทย "ไต" Strong
เรื่องของ สตรีกับโรคไต นั้นจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย พบว่า สาเหตุหลักของไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรวมกันมากกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการรับประทานอาหารรสหวาน หรือเค็มจัดและไม่ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งยังคงไม่สามารถสรุปได้ว่าเพศใดเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณี เช่น ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เป็นต้น โดยเฉพาะในเรื่องของโรคไตกับการตั้งครรภ์ นั้นสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคไตเรื้อรังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลงโดยเฉพาะในรายที่การทำงานของไตลดลงอย่างมาก เมื่อผู้ป่วยมีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและได้รับการบำบัดทดแทนไตจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก แต่อย่างไรก็ดีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่การทำงานของไตยังดีก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ ผลของการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน อาจทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ส่วนยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ จึงต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษและอาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์ จึงควรปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันการตั้งครรภ์เองก็ส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้ง การตกเลือดหลังคลอด ทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ในส่วนของโรคพุ่มพวงหรือโรคภูมิแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่เรียกว่า โรค SLE นั้น โรคนี้ส่งผลกับการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงในสตรีตั้งครรภ์ คือ โรคนี้มีความผิดปกติได้หลายระบบ เช่น ปวดข้อ ข้อบวม ผื่นผิวหนัง ซีด เกร็ดเลือดต่ำ รวมถึงความผิดปกติทางไต ทำให้ไตอักเสบ โปรตีนไข่ขาวรั่ว และบางรายอาจมีภาวะไตวายได้ การรักษาจะใช้ยากดภูมิคุ้มกันตามความรุนแรงของโรคจนกระทั่งโรคสงบ การตั้งครรภ์สามารถทำให้โรค SLE กำเริบได้และโรค SLE ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และครรภ์เป็นพิษได้ นอกจากนี้ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิดที่ใช้ในการรักษายังมีผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรค SLE จึงต้องคุมกำเนิดในช่วงที่โรคกำเริบและมีการปรึกษาวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์
โรคไตเป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นภัยเงียบที่เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ความเสี่ยงของโรคไตและผลกระทบของโรคไตในเพศหญิงอาจมีความแตกต่างโดยเฉพาะในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารก จึงขอให้ทุกท่านตระหนัก มีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ
เรื่องของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรีเช่นกัน โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือมีอาการปวดท้องน้อย สตรีบางรายอาจมีการติดเชื้อแบบซ้ำ ๆ ซึ่งบางรายสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ มีบางครั้งเชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปบริเวณกรวยไต ทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเอว คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงได้ นอกจากนี้ในสตรีตั้งครรภ์ก็สามารถติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งรายที่เป็นรุนแรงก็อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ดังนั้นในสตรีตั้งครรภ์ควรได้รับการรักษาแม้ว่าจะไม่มีอาการ โดยทั่วไปการวินิจฉัยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจปัสสาวะรวมไปถึงการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ การป้องกันโดยทั่วไปคือ การรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้ารัดจนเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
สำหรับการจัดกิจกรรมวันไตโลก ในปีนี้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ที่ 3 มีนาคม 2561 ณ Atrium Zone ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ การตรวจสุขภาพโรคไตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมการอธิบายให้ความรู้เรื่องโรคไต เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต และเรื่องของสตรีกับโรคไต สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือเข้าเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.nephrothai.org