กลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม รวมพลัง เปิดตัว แพลตฟอร์มระบบเปิด สร้างปรากฏการณ์ใหม่ แก่วงการเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 6, 2007 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
กลุ่มพันธมิตรร่วมจับมือปลดปล่อยพลังแห่งการสร้างสรรค์ครั้งใหญ่เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก
กลุ่มพันธมิตรผู้นำด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร ประกาศความร่วมมือครั้งใหญ่ในโครงการ แอนดรอยด์ (Android) แพลตฟอร์มระบบเปิดที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับโลกโมบาย โดยมี กูเกิล อิงก์, ที-โมบาย, เอชทีซี, ควอลคอมม์, โมโตโรลา และบริษัทชั้นนำอีกมากมายร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์ แอนดรอยด์ ผ่านกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิด (Open Handset Alliance) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรชั้นนำระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่โดยตรง
ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมนวัตกรรมบนเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่าแพลตฟอร์มโมบายทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การนำเสนอมิติใหม่ของแพลตฟอร์มระบบเปิดให้แก่นักพัฒนาจะทำช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย แอนดรอยด์ จะช่วยเร่งและผลักดันบริการระบบสื่อสารรูปแบบใหม่ไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ด้วยจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้คน ช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่สกัดกั้นความร่วมมือกันระหว่างแพลตฟอร์มมือถือยังคงเป็นความท้าทายหลักที่นักพัฒนาโปรแกรม ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และผู้ผลิตอุปกรณ์โมบาย ต้องร่วมมือกันรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโครงการ แอนดรอยด์ จะช่วยให้ทั้งนักพัฒนาโปรแกรม ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และผู้ผลิตอุปกรณ์โมบาย สามารถทำงานร่วมกันและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่า จนได้ออกมาเป็นแพลตฟอร์มโมบายที่ดีขึ้นสำหรับผู้บริโภค มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และเพิ่มขีดระดับแห่งอิสรภาพสำหรับประสบการณ์บนโลกโมบายได้อย่างน่าประทับใจ
พันธมิตร 34 บริษัทได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการใช้งานบนอุปกรณ์และบริการบนโลกโมบาย ซึ่งแพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ ถือเป็นก้าวแรกในทิศทางดังกล่าว ด้วยการนำเสนอระบบซอฟต์แวร์สมบูรณ์แบบที่ประกอบไปด้วยระบบปฏิบัติการ ซอฟต์แวร์ตัวกลาง (middleware) อินเทอร์เฟสสำหรับผู้ใช้ และแอปพลิเคชัน ไว้อย่างครบถ้วน โดยผู้บริโภคจะมีโอกาสสัมผัสกับโทรศัพท์มือถือที่ใช้ แอนดรอยด์ ได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นไป
แพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ จะได้รับการเผยแพร่ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากที่สุด ลักษณะการใช้งานเป็นที่คุ้นเคยของนักพัฒนา ผ่านไลเซนส์แบบโอเพนซอร์ส ที่ให้อิสระและความยืดหยุ่นแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ผลิตอุปกรณ์โมบายอย่างเต็มที่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และในสัปดาห์หน้าทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะเริ่มออกชุดซอฟต์แวร์สำหรับการพัฒนา เพื่อให้นักพัฒนาโปรแกรมได้ใช้เครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานและแอปพลิเคชันใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มดังกล่าว
แอนดรอยด์ มุ่งมั่นที่จะนำเสนอประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค นักพัฒนาโปรแกรม รวมไปถึงผู้ผลิตและผู้ให้บริการโซลูชันโมบาย โดยผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการริเริ่มและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า นักพัฒนาจะมีโอกาสเข้าถึงคุณสมบัติต่างๆ ของอุปกรณ์โมบายอย่างครบถ้วน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ สำหรับผู้ใช้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ถือเป็นการผนวกแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ตมาใช้บนโลกโมบายได้อย่างลงตัว ที่สำคัญผู้บริโภคทั่วโลกจะได้รับประโยชน์จากราคาของเครื่องมือสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่ถูกลง มีคุณสมบัติมากขึ้น พร้อมรองรับแอปพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ต และใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์บนโลกโมบายที่เหนือระดับอย่างแท้จริง
ซอฟต์แวร์ระบบเปิด อุปกรณ์ระบบเปิด และระบบนิเวศแบบเปิด
"ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการปลดปล่อยข้อจำกัดบนเทคโนโลยีโมบายให้แก่ผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลก แนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมโมบายจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีในการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนสารสนเทศในอนาคต" อิริค สมิด์ธ ประธานกรรมการและซีอีโอ ของ กูเกิล กล่าว "ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นกว่า กูเกิลโฟน ที่สื่อคาดเดากันไปเองในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรามีวิสัยทัศน์ในการสร้างแพลตฟอร์มอันทรงพลังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับโทรศัพท์มือถือหลายพันรุ่นในอนาคต"
"ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิดทาง ที-โมบาย พร้อมร่วมสร้างสรรค์และส่งเสริมแพลตฟอร์มระบบเปิดสำหรับบริการไร้สาย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น" เรเน โอเบอร์แมน ซีอีโอ ของ ดอยทซ์ เทเลคอม บริษัทแม่ของ ที-โมบาย กล่าว "กูเกิลถือเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของ ที-โมบาย ในการร่วมผลักดันนำระบบโมบายแห่งยุคอินเทอร์เน็ตสู่ผู้บริโภค เรามองว่า แอนดรอยด์ เป็นโอกาสที่ดีในการนำเสนอบริการบนอินเทอร์เน็ตและ เว็บ 2.0 ให้แก่ลูกค้าของ ที-โมบาย ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปในปีหน้า"
"เครื่องหมายการค้าของ เอชทีซี บ่งบอกถึงความสามารถในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์บนเครื่องมือสื่อสารที่ให้ความลงตัวแก่ผู้บริโภคอย่างสูงสุดตลอดมา" ปีเตอร์ เชา ซีอีโอ ของ เอชทีซี คอร์ปอเรชัน กล่าว "การเข้าร่วม Open Handset Alliance และส่งเสริมแพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ ที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นั้น จะช่วยให้เราสามารถขยายขีดความสามารถของโทรศัพท์มือถือออกไป และพลิกสภาวะอันซับซ้อนในอุตสาหกรรมโมบายให้ผสานความร่วมมือได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ใช้ได้อย่างลงตัวที่สุด"
"การรวมตัวกันของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและโลกเทคโนโลยีไร้สาย ถือเป็นการสร้างความร่วมมือครั้งใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจและการผลักดันไปสู่นวัตกรรมใหม่" ดร. พอล อี. จาค็อปส์ ซีอีโอควอลคอมม์ กล่าว "เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมในกลุ่มกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิดที่มีพันธกิจในการสร้างแอปพลิเคชันแบบโอเพนซอร์สบนแพลตฟอร์มแบบ 3G ซึ่งมาตรฐานเปิดสำหรับอุปกรณ์มือถือดังกล่าวจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่อุปกรณ์และบริการต่างๆ ดังนั้นเราจึงได้มุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาภายใต้แพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าบนชิปเซ็ตสำหรับเครื่องมือสื่อสารของเรา"
"โมโตโรลาได้ให้ความสนใจซอฟต์แวร์ระบบเปิดบนแพลตฟอร์มโมบายตลอดมา วันนี้เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุน กูเกิล และบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิดและแพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ โดยโมโตโรลามีแผนที่จะใช้แพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ เพื่อนำเสนอโลกแห่งการเชื่อมต่อที่ราบรื่นและประสบการณ์แปลกใหม่บนผลิตภัณฑ์ของโมโตโรลาในอนาคต" เอ็ด แซนเดอร์ ประธานกรรมการและซีอีโอของ โมโตโรลา อิงก์ กล่าว
สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิด (Open Handset Alliance)
Aplix (www.aplixcorp.com), Ascender Corporation (www.ascendercorp.com), Audience (www.audience.com), Broadcom (www.broadcom.com), China Mobile (www.chinamobile.com), eBay (www.ebay.com), Esmertec (www.esmertec.com), Google (www.google.com), HTC (www.htc.com), Intel (www.intel.com), KDDI (www.kddi.com), Living Image (www.livingimage.jp), LG (www.lge.com), Marvell (www.marvell.com), Motorola (www.motorola.com), NMS Communications (www.nmscommunications.com), Noser (www.noser.com), NTT DoCoMo, Inc. (www.nttdocomo.com), Nuance (www.nuance.com), Nvidia (www.nvidia.com), PacketVideo (www.packetvideo.com), Qualcomm (www.qualcomm.com), Samsung (www.samsung.com), SiRF (www.sirf.com), SkyPop (www.skypop.com), SONiVOX (www.sonivoxrocks.com), Sprint Nextel (www.sprint.com), Synaptics (www.synaptics.com), TAT - The Astonishing Tribe (www.tat.se), Telecom Italia (www.telecomitalia.com), Telefonica (www.telefonica.com), Texas Instruments (www.ti.com), T-Mobile (www.t-mobile.com), Wind River (www.windriver.com)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรเครื่องมือสื่อสารระบบเปิดสามารถเยี่ยมชมได้ที่ www.openhandsetalliance.com
เกี่ยวกับกูเกิล
เทคโนโลยีในการค้นหาข้อมูลที่สร้างสรรค์ของกูเกิลได้ช่วยเชื่อมโยงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกเข้ากับสารสนเทศในแต่ละวัน กูเกิล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 โดยนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอย่าง แลร์รี เพจ และเซอร์จี บริน วันนี้ กูเกิล ถือเป็นเว็บไซต์อันดับต้นในแทบทุกตลาดออนไลน์ทั่วโลก นอกจากนี้รูปแบบการโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงยังช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดประสบผลสำเร็จอันเป็นรูปธรรม และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ออนไลน์ของผู้ใช้เว็บให้ดียิ่งขึ้น กูเกิลมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซิลิคอนวัลเลย์ และสำนักงานสาขาทั่วทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่ www.google.com
เกี่ยวกับ ที-โมบาย
ที-โมบาย เป็นผู้นำระดับโลกด้านผู้ให้บริการระบบสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ มุ่งเน้นทำตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ ดอยทซ์ เทเลคอม โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2550 กลุ่ม ดอยทซ์ เทเลคอม ได้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือแก่ลูกค้าทั่วโลกกว่า 112 ล้านคน ภายใต้แพลตฟอร์มหลักอย่างระบบจีเอสเอ็ม ซึ่งถือเป็นมาตรฐานระบบไร้สายแบบดิจิตอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ซึ่งทำให้ ที-โมบาย กลายเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่สามารถนำเสนอบริการแบบข้ามทวีปแก่ลูกค้าได้อย่างราบรื่นที่สุด
เกี่ยวกับ เอชทีซี
ไฮเทค คอมพิวเตอร์ คอร์ปอเรชัน (High Tech Computer Corp) หรือ เอชทีซี เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 เพื่อออกแบบ ผลิต และทำตลาดสมาร์ทโฟนและพีดีเอโฟนที่พร้อมไปด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นและสร้างสรรค์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจเป็นต้นมา เอชทีซี ได้ออกแบบ วิจัย และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากมาย รวมไปถึงการนำเสนอพีดีเอโฟนและสมาร์ทโฟนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ผ่านทางผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและผู้จัดจำหน่ายชั้นนำ โดยผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีทั้งที่จำหน่ายภายใต้ชื่อ เอชทีซี และจำหน่ายผ่านชื่อของผู้ให้บริการและพาร์ทเนอร์รายต่างๆ เอชทีซี ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในตลาดเครื่องมือสื่อสาร โดยบริษัทฯ ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวันภายใต้หมายเลข 2498 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเรียกดูได้จาก www.htc.com
เกี่ยวกับ ควอลคอมม์
ควอลคอมม์ อิงก์ (www.qualcomm.com) เป็นผู้นำในการพัฒนาและขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการระบบสื่อสารแบบไร้สายแบบดิจิตอลบนเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอและเทคโนโลยีชั้นสูงอื่นๆ สำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซาน ดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ควอลคอมม์เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม S&P 500 Index และได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม 2007 Fortune 500 โดยเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อ QCOM ในตลาด Nasdaq Stock Market
เกี่ยวกับ โมโตโรลา
โมโตโรลา เป็นที่รู้จักทั่วโลกในด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในระบบสื่อสารแบบไร้สายและบรอดแบนด์ พนักงานของโมโตโรลาทุกคนมุ่งมั่นในการนำเสนอความสะดวกราบรื่นบนโลกโมบายให้แก่ผู้ใช้ พร้อมนำเสนอข้อมูลและความบันเทิงที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการออกแบบและผลักดันผลิตภัณฑ์สุดยอดที่โดนใจ พร้อมประสบการณ์ใหม่ที่หลายคนอยากลอง ภายใต้ระบบเครือข่ายอันทรงพลัง พร้อมด้วยบริการหลังการขายที่ครบถ้วน โดย โมโตโรลา ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท Fortune 100 ที่มีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจ โดยมีรายรับในปี 2549 รวม 42,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท บุคลากร และนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถเยี่ยมชมได้ที่ http://www.motorola.com
ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
ติ๊ก บุษกร ศรีสงเคราะห์ 02-655-6633 / 081-911-0931 busakorn@apprmedia.com
กิ๊ฟ ฐิติมา ราชสมบัติ 02-655-6633 / 081-342-6261 thitima@apprmedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ