กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--บลจ.กสิกรไทย
นายนาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย มีกำหนดจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดเค ญี่ปุ่น หุ้นทุน (K-JP) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 - 31 ธันวาคม 2560 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่อในสมุดทะเบียนเวลา 8.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2561 และมีกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 12 มกราคม 2561 นี้ รวมมูลค่าการจ่ายปันผลทั้งสิ้นกว่า 65.70 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน K-JP ที่ผ่านมา นายนาวินกล่าวว่า นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อเดือนธันวาคม 2557 หากนับรวมการจ่ายปันผลในครั้งนี้ด้วย กองทุนมีประวัติการจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง รวมเป็นอัตรา 1.75 บาทต่อหน่วย ส่วนในรอบผลการดำเนินงาน 6 เดือนที่ผ่านมา (1 ก.ค. 60 - 31 ธ.ค. 60) กองทุนมีการจ่ายปันผลรวมทั้งสิ้นในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย (Dividend Yield) อยู่ที่ 3.5% ต่อปี ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนของกองทุน K-JP ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 15.10% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 13.02% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 23.84% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 21.51% (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2560) ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนหลัก ที่เน้นหุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นต่ำ (P/E) และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูง (ROE)
กองทุน K-JP มีนโยบายลงทุนผ่านกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund Japanese Equity, Class A Acc ซึ่งบริหารจัดการโดย Schroder Investment Management (Luxembourg) S.A. บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำระดับโลก โดยกองทุนหลักถือเป็นหนึ่งในกองทุนหุ้นญี่ปุ่นชั้นนำขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่นที่มีผลประกอบการดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีความยั่งยืนในการเติบโตของธุรกิจ โดยไม่จำกัดหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมหรือขนาดของบริษัท เพื่อความคล่องตัวในการลงทุน ทั้งนี้ กองทุน K-JP เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับค่อนข้างสูง และเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งมุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับกองทุนหลักให้มากที่สุด
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ ตัวเลขภาคการผลิตที่เติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกที่ดีขึ้น รวมถึงได้รับปัจจัยหนุนจากความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังนายชินโซ อาเบะได้รับเลือกเป็นนายกฯ และการคาดการณ์ว่านายคุโรดะจะดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางอีกสมัย ซึ่งจะช่วยสานต่อความต่อเนื่องของนโยบายการบริหารประเทศ รวมทั้งนโยบายการเงินที่คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ -0.1% พร้อมทั้งคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0% เพื่อหนุนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นปรับขึ้นค่าแรงขึ้นอีก 3% หรือสูงกว่านั้น เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อในประเทศ หลังจากระดับเงินเฟ้อที่ผ่านมายังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%
"ส่วนมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่น บลจ.กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะกลางถึงยาว จากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น ประกอบกับระดับราคาหุ้นญี่ปุ่นที่ยังมีความน่าสนใจ และถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ดังนั้น บลจ.กสิกรไทยยังแนะนำให้ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น สามารถเข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ รวมถึงนักลงทุนปัจจุบันที่มีการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ให้ถือต่อเนื่องเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยระยะสั้นที่จะต้องติดตาม คือประเด็นการขึ้นภาษีบริโภคจาก 8% เป็น 10% ในเดือนต.ค. ปี 62 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนที่ยังมีความผันผวนต่อเนื่องด้วย" นายนาวินกล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน K-JP ของบลจ.กสิกรไทย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนเสนอขายได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือสอบถาม KAsset Contact Center 0 2673 3888 หรือที่ www.kasikornasset.com
กองทุน รอบผลการดำเนินงาน อัตราเงินปันผล (บาท/หน่วย)
K-JP 1กรกฎาคม2560 - 31ธันวาคม2560 0.20
*คิดจาก NAV วันที่ 29 ธ.ค.60
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน ได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายหน่วยลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน K-JP ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้