กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบันที่ผู้คนต้องเผชิญกับมลภาวะต่างๆรายรอบตัวโดยเฉพาะที่นี่....กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่ต้องแบกรับปัญหาดังกล่าวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ก็ตระหนักดีว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง ควรเร่งหามาตรการเพื่อคุ้มครองคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่ให้ตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกต่อไป........กล่าวเฉพาะเรื่องพิษภัยและสารปนเปื้อนที่อยู่ในอาหาร ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่มุ่งควบคุมสุขลักษณะของวัตถุดิบอาหาร สถานประกอบการอาหาร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอาหารปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดสารพิษ บริโภคได้อย่างมั่นใจ ที่สำคัญคือส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย
แนวคิดเรื่องการวางยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย หรือ Bangkok Food Safety City Strategic Plan ในระยะที่ 1 จึงถูกริเริ่มขึ้นนับแต่ปี 2548 เพื่อให้สอดคล้องและสามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนแม่บทอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานครขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกำหนด ยุทธศาสตร์ไว้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการวางระบบการตรวจสอบ และเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหาร โดยมีมาตรการคือ เพิ่มการตรวจสุขลักษณะของอาหารโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตรวจทั้งด้านจุลชีววิทยา และพิษวิทยา การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินอาหาร โดยการสุ่มตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาทุกปี และมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือสารสนเทศทางลึก การจัดให้มีระบบการตรวจรับรองด้านสุขลักษณะสถานที่และสุขลักษณะอาหารโดยหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ได้มาตรฐานที่กรุงเทพมหานครให้การรับรองขึ้นทะเบียนไว้อย่างเป็นทางการ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างหลักประกันเพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค มีมาตรการโดยการจัดตั้งองค์กรทำหน้าที่ตรวจประเมิน และให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยในร้านอาหาร โรงอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาด และซูเปอร์มาร์เก็ต และมีการมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่สถานประกอบการอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่และสุขลักษณะอาหาร สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การเปิดระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีมาตรการคือ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทั้งระดับบริหาร หัวหน้าหน่วยงานทุกระดับ และระดับผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการสุขาภิบาลอาหาร ให้เห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เช่น การเป็นคณะกรรมการทั้งในระดับกทม. และระดับสำนักงานเขต หรือในการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั่วถึง โดยอาศัยสื่อสารมวลชน และสื่อรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพ และจัดทำสารสนเทศอาหารปลอดภัย (Food Safety Information) และมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เป็นปัจจุบัน ดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลจากสถานประกอบการทุกกลุ่มเป้าหมายจากทุกสำนักงานเขต เพื่อก่อประโยชน์ต่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ที่เข้ามาพักอาศัยจะได้รับการคุ้มครองสุขภาพจากการบริโภคอาหารปลอดภัย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงผลการดำเนินงานตามโครงการกรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัยที่ผ่านมาว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ “กรุงเทพมหานคร จะเป็นเมืองอาหารปลอดภัย อาหารปลอดโรค ปลอดสารพิษ บริโภคได้อย่างมั่นใจ” กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยมุ้งเน้นกิจกรรมการทำให้กรุงเทพเป็นเขตอาหารปลอดภัยภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย,กิจกรรมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัยโดยการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารด้านอาหารปลอดภัย การจัดอบรมสัมมนาให้กับชมรมและสมาคมด้านอาหารปลอดภัย และการริเริ่มให้มีอาสาสมัครด้านอาหารปลอดภัย, กิจกรรมการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่ร้านอาหารที่ผ่านเกณฑ์ด้านสุขลักษณะ และผู้ประกอบการได้รับการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตร ที่กรุงเทพมหานครกำหนด,กิจกรรมการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ในซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และคอนวีเนียนสโตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2548 - 2549) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 1. เขตอาหารปลอดภัย 2. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย 3. การบริหารแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย 4. การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการระบาดของโรคและการปนเปื้อนสารพิษของอาหารและน้ำ 5. การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย 6. การประชาสัมพันธ์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย และล่าสุดงาน “มหกรรมอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2550 ณ เจ.เจ. มอลล์ จตุจักร
“การจัดมหกรรมอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 นี้ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และส่งผลในภาพรวมของประเทศในการส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ทั้งนี้หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง โดยที่ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบ เราก็จะสามารถช่วยกันแก้ปัญหาจนบรรลุเป้าหมายการทำให้อาหารปลอดภัยได้ ซึ่งก็จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอาหารปลอดภัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ในที่สุด” นายอภิรักษ์ กล่าว
ภายในงาน “มหกรรมอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1” จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในการผลิตอาหารที่ทันสมัย และการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการและสะอาดปลอดภัย พร้อมด้วยการจัดแสดงร้านค้าจำหน่ายอาหารอร่อย 50 เขต ร้านอาหารดารา การแข่งขันปรุงอาหารจากสถานศึกษา และผู้ค้าจากเขตต่างๆ การมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการอบรม สัมมนา อาทิ การสัมมนาของเครือข่ายอาหารปลอดภัยจาก 200 ชมรม,เครือข่ายนักวิชาการอาหาร เพื่อกำหนดกรอบการจัดการสุขลักษณะที่ดี, การจัดการสุขลักษณะที่ดี (GMP) สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหาร (Food Catering) ,การปรุงอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยและยั่งยืน เป็นต้น
งานมหกรรมอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เป็นกิจกรรมหนึ่งที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้น เพื่อตอกย้ำสู่เป้าหมายในการที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอาหารปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดสารพิษ บริโภคได้อย่างมั่นใจ ส่งเสริมให้ประชาชน ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการบริโภคอาหารของชาวกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน พบกับความยิ่งใหญ่ของงานมหกรรมอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2550 ณ เจ.เจ. มอลล์ จตุจักร
นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของโครงการกรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย ที่กรุงเทพมหานครจะผนึกความร่วมมือภาครัฐ — เอกชนที่เกี่ยวข้อง กระตุ้นสังคมให้ตื่นตัว มีความรู้ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ปลุกพลังความร่วมมือภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย มุ่งส่งเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิตคนไทย สร้างภาพลักษณ์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และบรรยากาศการท่องเที่ยว เพื่อบรรลุเป้าหมาย “กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย” คุ้มครองสุขภาพ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ชาว กทม. และนักท่องเที่ยว สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพในระยะยาวต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0 2691 6302 - 4, 0 2274 4961-2
สุขกมล งามสม 08 9484 9894, 0 2274 4781-2
อัญชลี เชื้อน้อย 08 9478 8350