กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สจล. ชวนเช็คสภาพอากาศวางแผนชีวิตและการเดินทาง ผ่านแอพพลิเคชั่น WMApp ที่มีความแม่นยำที่สุดในอาเซียน เผยสภาพอากาศ ช่วง 6 วันจากนี้ ต้องจับตาฝนบริเวณภาคใต้ ชี้ 13 ม.ค. อุณหภูมิจะต่ำสุด จากนั้นจะค่อยๆ อุ่นขึ้น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แนะแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ ระบุหน่วยงานรัฐต้องศึกษาและปรับทุกระบบให้มีพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะระบบเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ (Smart Disaster) ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) และระบบสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) เนื่องจากระบบเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง ชี้ปัญหา "ฝนตก" "น้ำท่วมขัง" และ "รถติด" คือสิ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวง ชวนตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผ่านแอพพลิเคชั่น "WMApp" ที่มีความแม่นยำที่สุดในอาเซียน ความพิเศษคือสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ พร้อมบอกความหนักเบา และเวลาที่ฝนจะตก ได้ทั้งระยะสั้นล่วงหน้า 28 ชม. หรือ 1 วัน และระยะยาวล่วงหน้า 5.5 วัน หรือติดตามได้ทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ "สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย" ย้ำ 11-16 ม.ค. จับตาฝนบริเวณภาคใต้ ขณะที่ตอนบนของประเทศส่วนใหญ่ค่อนข้างโล่ง อุณหภูมิจะต่ำสุดวันที่ 13 ม.ค. นี้ จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และจะอุ่นขึ้นชัดเจนในวันที่ 16 ม.ค.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ชีวิตคนเมืองหลวงต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลานานเกินกว่าศักยภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและรถติดเป็นอัมพาตยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลข่าวสารที่ช่วยในการตัดสินใจ การวางแผน และการวิเคราะห์ เพื่อหนทางลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เป็นเหตุทำให้การแก้ไขและจัดการปัญหาต่างๆ ใน ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ อย่างเช่นเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อช่วงเช้าวานนี้ ที่ชาวกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในความเป็นจริง สจล. สามารถทำนายล่วงหน้าได้แล้วว่าฝนจะตกจุดไหน เวลาอะไร เพราะเรามีแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้มมูลไปใช้ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ลดการสูญเสียทางด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และสุขภาพจิต
"วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง กทม. เมืองที่มีความวุ่นวายไม่หยุดนิ่ง ต้องก้าวข้ามปัญหาและข้อจำกัดเดิมๆ โดยการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันชาญฉลาด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือฝนตก น้ำท่วม รถติด ทั้งสามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ ปัญหานี้ไม่เพียงเกิดจากระบบการทำงานที่ไม่เท่าทันสถานการณ์ แต่ยังรวมไปถึงความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานรัฐไปถึงมือประชาชนด้วย ฉะนั้น หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในแง่ของการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง การประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกประกาศคำแนะนำต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น ถ้ารู้ว่าพรุ่งนี้เช้าฝนจะตกหนักจนน้ำระบายไม่ทัน เมื่อผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ควรเร่งออกประกาศแจ้ง เตือนไปยังประชาชน เพื่อให้แต่ละคน แต่ละหน่วยงาน หามาตรการรองรับที่เหมาะสม เช่น การหยุดเรียนครึ่งวัน การทำงานที่บ้าน เป็นต้น" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ด้าน ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจจริยะ (Smart City innovative Research Academy – SCiRA) สจล. กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สจล. ได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและผลกระทบดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น โดยจัดตั้งสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจจริยะ (SCiRA) ขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร สู่การเป็นเมือง Smart City ที่สมบูรณ์แบบ โดยการจัดการและพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปรับทุกระบบให้พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะระบบเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ (Smart Disaster) ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) และระบบเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะ (Smart Economy) เนื่องจากระบบเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการใช้ที่ดินอัจฉริยะ (Smart Land Use) ระบบการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ระบบสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Health) และระบบอาหารอัจฉริยะ (Smart Food) โดย SCiRA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฎิบัติการที่คอยรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูล เผยแพร่ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ด้าน ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอากาศและระบบโลก (SESE) สจล. กล่าวว่า เนื่องจากในสภาพอากาศของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับพลัน ประชาชนจึงควรหมั่นตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยการตรวจเช็คผ่านแอพพลิเคชั่น WMApp เนื่องจากมีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด รายเขตปกครองในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ พร้อมบอกความหนักเบาและเวลาที่ฝนจะตก ได้ทั้งระยะสั้นล่วงหน้า 28 ชม. (1 วัน) และระยะยาวล่วงหน้า 5.5 วัน อันเป็นผลมาจากการวิจัยพัฒนาอัลกอริทึมประมาณค่าหยาดน้ำฟ้า (ฝน หิมะ ลูกเห็บ) จากการสังเกตของดาวเทียม และพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงเลขความละเอียดสูงสำหรับเขตร้อน (Tropics) ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS และเพื่อความสะดวกในการอัพเดทข้อมูล และขณะนี้ได้เปิดเฟสบุ๊กแฟนเพจ "สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย" ขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลการพยากรณ์อากาศได้สะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับผลการพยากรณ์อากาศในช่วงนี้มีรายละเอียด ที่ต้องเฝ้าระวังและจับตาอย่างใกล้ชิด ดังนี้
1. ฝน ผลการพยากรณ์ฝน ประเทศไทย ละเอียดเป็นรายชั่วโมง ถึงวันที่ 16 ม.ค. 61 แสดงอัตราการตกของฝนในหน่วยมิลลิเมตรต่อชั่วโมง พบว่า ในช่วงนี้พื้นที่หลักที่ต้องจับตาเรื่องฝนคือภาคใต้ ขณะที่ตอนบนของประเทศส่วนใหญ่จะโล่ง จนกระทั่งวันที่ 16 ม.ค. จะมีกลุ่มฝนบริเวณอีสานล่าง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
11 ม.ค. 61 : ภาคใต้ จะมีกลุ่มฝนแนวยาวเคลื่อนที่เข้าภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เรียงยาวลงมาตั้งแต่ชุมพร วันไล่ลงมาถึงนราธิวาส บริเวณที่น่าจะมีฝนตกหนักคือบริเวณ ปัตตานี ยะลา สงขลา กลุ่มฝนดังกล่าวเคลื่อนที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ภาคใต้
12 ม.ค. 61 : ภาคใต้ กลุ่มฝนเคลื่อนที่เข้าสุราษฎร์ฯ นครศรีฯ สมุย สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ตรังสตูล กระบี่ ภูเก็ต
13 ม.ค. 61 : ภาคใต้ กลุ่มฝนบริเวณ สงขลา นราธิวาส ยะลา นครศรีฯ สตูล
14 ม.ค. 61 : ภาคใต้ กลุ่มฝนบริเวณ สงขลา พัทลุง สมุย นครศรีฯ สตูล ตรัง กระบี่ นราธิวาส
15 ม.ค. 61 : ภาคใต้ กลุ่มฝนบริเวณ สงขลา พัทลุง นครศรีฯ สุราษฎร์ฯ สมุย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ตรัง กระบี่
2. ลม ผลการพยากรณ์ลมและความสูงของคลื่น ถึงวันที่ 16 ม.ค. 61 แสดงผลการพยากรณ์ความเร็วและทิศทางลม และ ความสูงของคลื่น ระยะยาวละเอียดเป็นรายชั่วโมง โดยใช้ Beaufort Scale แบ่งความเร็วลมเป็นช่วงๆ พบว่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :
1) 11-13 ม.ค. 61 : ความเร็วลมสูงสุด อยู่ในช่วง "ลมจัด" ประมาณ 39-49 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2) ตั้งแต่ 14 ม.ค. 61 ถึง15 ม.ค. 61 ก่อนเที่ยง : ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง "ลมแรง" ประมาณ 29-38 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3) 15 ม.ค. 61 หลังเที่ยง ถึง 16 ม.ค. 61 เวลา 7.00 น. : ความเร็วลมลดลงชัดเจน ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง "ลมปานกลาง" ประมาณ 20-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ภาคใต้ :
1) 10-14 ม.ค. 61 : ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง "ลมจัด" ประมาณ 39-49 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น 3-4 เมตร
2) 15 ม.ค. 61 ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง : ความเร็วลมในภาพรวมลดลง แต่บริเวณประจวบฯ ชุมพร ความเร็วลมสูงสุดยังอยู่ในช่วง "ลมจัด" ประมาณ 39-49 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น 3-4 เมตร
3) 15 ม.ค. 61 หลังเที่ยงเป็นต้นไป ถึง 16 ม.ค. 61 เวลา 7.00 น. : ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง "ลมแรง" ประมาณ 29-38 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร
3. อุณหภูมิ คำถามยอดฮิต "จะเย็นกี่วัน" พรุ่งนี้ 12 ม.ค. จะเย็นกว่าวันนี้ ส่วนวันที่ 13 ม.ค. จะเย็นลงอีก และวันที่ 14 ม.ค. จะอุ่นขึ้นเล็กน้อย 15 ม.ค. 61 จะอุ่นขึ้นอีก 16 ม.ค. 61 จะอุ่นขึ้นชัดเจน
"วันนี้อากาศเย็นสบายรู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯ ซึ่งสอดคล้องกับผลการพยากรณ์ที่ได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้า คำถามยอดฮิตตอนนี้คือจะเย็นกี่วัน จากระบบของแอพพลิเคชั่น WMApp พบว่า วันที่ 11-13 ม.ค. นี้ ลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลงชัดเจน ความเร็วลมจะเริ่มลดลงวันที่ 14 ม.ค. และลมจะลดลงชัดเจนหลังเที่ยงของวันที่ 15 ม.ค. ส่วนผลรายวันในวันพรุ่งนี้ 12 ม.ค. 61 อุณหภูมิบริเวณครึ่งบนของประเทศจะลดลงกว่าวันนี้ โดย 13 ม.ค. จะเป็นวันที่อุณหภูมิต่ำสุด ในช่วง 6 วันหลังจากนี้" ผศ.ดร.ชินวัชร์
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th