กรมศุลกากรเพิ่มช่องทางรับชำระค่าภาษีอากรOn-Lineผ่านธนาคารซูมิโตโม มิตซุยฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 12, 2007 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันพุธที่ 12 กันยายน 2550) เวลา 10.00 น. นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือในการชำระภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติของธนาคาร กับนายฮิเดะโตชิ ฟูรูกาว่า ผู้จัดการใหญ่ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ณ ห้องประชุมอนุมานราชธน กรมศุลกากร คลองเตย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมศุลกากรพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ระบบการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยวิธีหักบัญชีธนาคาร ได้แก่ การชำระค่าภาษีอากร การวางค้ำประกันด้วยเงินสด และการวางค้ำประกันด้วยธนาคารค้ำประกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless Customs) ของกรมศุลกากร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก โดยลดขั้นตอนในการมาติดต่อกับกรมศุลกากร และเป็นการประหยัดเวลา ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ
กรมศุลกากรมีนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้ทุกธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อม และมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมให้บริการฯ สามารถเป็น Customs Bank ได้ เพื่อขยายการบริการการรับชำระค่าภาษีอากรในระบบ e-Payment แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้สามารถใช้บริการได้หลากหลายธนาคาร ซึ่งธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น เป็นธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรโดยหักบัญชีธนาคาร และนับเป็นธนาคารเป็นลำดับที่ 4 นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารซิตี้แบงค์ ทางกรมศุลกากรเชื่อว่าการให้บริการของธนาคารซูมิโตโมฯ ในครั้งนี้จะเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกับนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มเติมว่า การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรโดยหักบัญชีธนาคารของ Customs Bank ทั้ง 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารซิตี้แบงก์ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายน 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 70 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 11.3 ล้านบาท ส่วนในเดือนสิงหาคม 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 303 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 65.4 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ