กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เตือนเกษตรกรพร้อมรับมืออากาศหนาว-สภาพอากาศแปรปรวน แนะนำวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำ-สัตว์บก เน้นดูแลสุขภาพสัตว์ เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด ช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายได้
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันที่หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงในช่วงเช้าและค่ำ สลับกับอากาศร้อนในช่วงกลางวัน และบางพื้นที่มีฝนตกร่วมด้วย ภาวะเช่นนี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นจึงมีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับสภาพแวดล้อม เมื่ออากาศเย็นลงระบบเมตาบอลิซึ่มในร่างกายจะผิดปกติ และระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงปลาว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาต้องวางแผนการเลี้ยงอย่างรอบคอบ ไม่เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป และปล่อยลูกปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ลูกปลาโตมีภูมิต้านทานเพิ่ม ช่วยลดลดอัตราเสี่ยง
นอกจากนี้ ควรสังเกตการกินอาหารที่อาจลดลง เนื่องจากอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยยึดหลักการณ์ให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง คือการแบ่งจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น เป็นวันละ 5-6 มื้อ ในแต่ละครั้งจะต้องให้ทีละน้อยเท่าที่ปลากินหมด เพื่อกระตุ้นการกินของปลาให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้อาหารในช่วงเช้าที่มีอุณหภูมิต่ำ เพราะปลาจะกินอาหารได้น้อย และควรผสมวิตามินซีและสารกระตุ้นภูมิต้านทานในอาหารให้ปลากินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน
ส่วนการเลี้ยงในรูปแบบบ่อดิน นับว่าสามารถควบคุมอุณหภูมิน้ำได้ง่ายกว่า โดยเกษตรกรอาจนำเอานวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบโปร–ไบโอติก (Pro-Biotic Farming) เข้ามาใช้ร่วมด้วย ซึ่งการเลี้ยงจะใช้แบคทีเรียที่เป็นมิตรกับสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งช่วยปรับสมดุลสิ่งแวดล้อมในบ่อเลี้ยง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะใดๆ จึงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยควบคุมคุณภาพน้ำทำให้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ผลผลิตปลาเนื้อคุณภาพ ทั้งนี้ในช่วงที่อากาศเย็นลงเกษตรกรสามารถทำแนวบังลมในทิศทางที่ลมหนาวพัดมา คือทิศเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อลดการกระทบกันของลมเย็นที่กระทำต่อพื้นผิวของน้ำในบ่อ
ด้าน น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวนรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ ซีพีเอฟ กล่าวว่าภาวะอากาศหนาวเย็นฉับพลันและในหลายพื้นที่อาจมีช่วงอากาศร้อนสลับด้วย ทำให้สัตว์เลี้ยงไม่สามารถปรับตัวได้และเกิดความเครียด ทำให้อัตราการกินอาหารและประสิทธิภาพการผลิตลดลง ภูมิคุ้มกันโรคต่ำลงจึงเจ็บป่วยง่ายขึ้น จึงมีคำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบเปิด เกษตรกรต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่น อาทิ หลอดไฟกก เสริมไม้-ฟางรองนอน ผ้าหรือกระสอบกันลม ขณะที่ช่วงที่มีอากาศร้อนควรเพิ่มพัดลมระบายอากาศเพื่อไม่ให้ภายในโรงเรือนอบอ้าว ส่วนการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป เกษตรกรต้องควบคุมการทำงานของพัดลมและเยื่อกระดาษหน้าโรงเรือนให้เหมาะสม อย่าให้ร้อน-เย็น-ชื้นเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อสัตว์ทำให้เกิดความเครียด ควรปรับสภาพภายในโรงเรือนให้สัตว์อยู่สบาย ขณะเดียวกันยานพาหนะและบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมาด้วย และหากมีการระบาดของโรคในพื้นที่ใด ควรงดนำสุกรฝูงใหม่เข้าเลี้ยง พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อการดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ควรเฝ้าระวังโรคในสัตว์กีบ อาทิ โค กระบือ และสุกร คือโรคปากและเท้าเปื่อย ที่พบได้บ่อยในสัตว์กีบในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน สุกรต้องระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับโรค PRRS ที่มีการระบาดได้ง่ายในภาวะอากาศแปรรวนดังกล่าว ซึ่งเป็นโรคที่พบในสุกรและไม่มีการติดต่อถึงคน แต่เชื้อสามารถแพร่ระบาดในฝูงสุกรได้อย่างรวดเร็ว โดยสุกรที่ติดเชื้อจะแสดงอาการหอบ ไอ มีไข้ ผิวหนังเป็นปื้นแดง กินอาหารน้อย หมดแรง ในสุกรท้องแก่จะพบอาการแท้ง หรืออัตราลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนลูกที่รอดจะอ่อนแอ โตช้า ไม่ได้น้ำหนัก โดยต้องเข้มงวดในการป้องกันโรคทั้งในฝูงเดิม และสุกรทดแทนที่ต้องมีการแยกเลี้ยงก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 1 เดือน
ด้านการเลี้ยงไก่เนื้อ ต้องดูแลสภาพภายในโรงเรือนให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เปียกชื้น ที่จะยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในลดต่ำลง ในกรณีที่อุณหภูมิต่ำมากควรเพิ่มผ้าม่านกั้นแนวลมที่จะเข้าโรงเรือน และเพิ่มหลอดไฟกก เพื่อทำให้อุณหภูมิไม่ต่ำจนเกินไป นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม เปลี่ยนเป็นให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร และสามารถเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้แม่ไก่ได้ตามสมควร