กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำเกษตรกรสวนผลไม้ทั่วประเทศ ใช้แมลงเป็นหมันควบคุมกำเนิด เพื่อเป็นเขตปลอดแมลงวันผลไม้ เพิ่มผลผลิตคุณภาพ
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แมลงวันผลไม้ เป็นศัตรูพืชสำคัญที่สร้างปัญหาไม่เพียงทำลายพืชผักผลไม้เท่านั้น แต่ในหลายประเทศยังถือเป็นเงื่อนไขในการกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตรด้วย ส่งผลกระทบต่อประเทศเกษตรกรรมที่ส่งออกผลผลิตด้านการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้อย่างจริงจัง โดยการฉายรังสีให้แมลงเพศผู้เป็นหมันแล้วนำไปปล่อยให้จับคู่ผสมพันธุ์กับเพศเมียในธรรมชาติเพื่อลดศักยภาพในการขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุมกำเนิดแมลงวันผลไม้ด้วยเทคโนโลยีเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ปี ๒๕๖๑ กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้าสนับสนุนแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันจากการฉายรังสี จำนวน ๑๒๐ ล้านตัว เพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่ ๙,๘๐๐ ไร่ ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจและมีปัญหาการระบาดของแมลงในผลไม้มาก่อน โดยได้สนับสนุนต่อเนื่องเช่นนี้ทุกปี ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า ความเสียหายของผลผลิตการเกษตรลดลงจาก ร้อยละ ๓๐ เมื่อปี ๒๕๔๘ เหลือร้อยละ ๕ ในปี ๒๕๕๖ และร้อยละ ๐ ในปี ๒๕๖๐ ทำให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตลองกองและมังคุดในจังหวัดจันทบุรีได้มากกว่า ๒ ล้านบาท และ ๒๙ ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การสนับสนุนต่อไปตามมาตรฐานสุขอนามัยพืช กรมส่งเสริมการเกษตรจะทำให้ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี สามารถประกาศเป็นเขตควบคุมที่มีประชากรแมลงวันผลไม้ระดับต่ำ ภายใต้การรับรองขององค์การอารักขาพืชแห่งชาติเป็นแห่งแรกของประเทศไทยได้
ประเทศไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีแมลงเป็นหมันตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลืองบประมาณจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการผลิตแมลงวันผลไม้เป็นหมันปล่อยในพื้นที่ปลูกมะม่วงจังหวัดราชบุรีและพิจิตร พบว่าก่อนดำเนินโครงการ ผลผลิตของมะม่วงเสียหายกว่าร้อยละ ๘๐ ลดลงเหลือ ร้อยละ ๔ ลดการใช้สารเคมีลงเหลือ ๔ ครั้ง จากเดิม ๑๒ ครั้งต่อปี คิดเป็นต้นทุนด้านสารเคมีจาก ๔๘๐ บาท เหลือ ๑๖๐ บาทต่อไร่ ส่วนจังหวัดพิจิตรได้ดำเนินการควบคลุมแมลงวันผลไม้แบบครอบคลุมพื้นที่พบว่า ก่อนดำเนินโครงการผลผลิตเสียหายร้อยละ ๔๓ ลดลงเหลือร้อยละ ๑๕ และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถส่งออกมะม่วงได้กว่า ๒,๐๐๐ ตันต่อปี