กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กทม.
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ตรวจการก่อสร้างโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) เส้นทางนำร่องช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างตัวสถานี จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอันเกิดจากผลกระทบจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะบริเวณทางลงสะพานพระราม 3 ซึ่งอยู่ติดกับสถานี BRT ที่ 11 ในช่วงเวลาเร่งด่วนเวลา 06.30- 08.30 น. มีปริมาณรถหนาแน่นข้ามมาจากฝั่งธนบุรี รถต้องชะลอความเร็วเบี่ยงลงสะพาน ส่งผลให้จราจรติดขัด จึงหาแนวทางแก้ไขโดยจะตีเส้นทึบเพื่อแบ่งช่องจราจรให้ชัดเจนจาก เชิงสะพานลงมา พร้อมประสานกับ สน.วัดพระยาไกร และเขตพื้นที่ เพื่อดูแลจัดจราจรให้ผู้ใช้รถขับรถอยู่ในช่องจราจร ไม่แซงเปลี่ยนเลนจนกว่าจะพ้นระยะแนวก่อสร้างจะช่วยให้รถเคลื่อนตัวได้คล่องขึ้น
อย่างไรก็ดีในจุดก่อสร้างสถานีอื่นๆ ไม่เป็นปัญหาเนื่องจากตัวสถานีกับสะพานทิ้งช่วงห่าง 50-70 เมตร ประกอบกับช่องจราจร ถ.พระราม 3 ได้ออกแบบไว้รองรับระบบใหม่ จึงสามารถเปิดใช้ได้ 4 ช่องจราจรเท่าเดิม แม้ว่าจะบีบเล็กลงเหลือช่องละ 2.90 เมตร จากเดิม 3.50 เมตร ก็ยังถือว่ายังสูงกว่ามาตรฐาน
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสถานี BRT มีความคืบหน้าประมาณ 25% คาดว่าจะเสร็จตามกำหนดภายในเดือน ธ.ค. 50 และประมาณกลางปี 2551 จะให้บริการได้ ซึ่งกทม. มุ่งหวังว่าเมื่อเปิดให้บริการรถ BRT จะช่วยให้ประชาชนประมาณ 50,000 คน/วัน ที่ใช้เส้นทางดังกล่าวสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดปริมาณจราจรที่หนาแน่นลงได้
นายพนิช กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากให้ความสำคัญต่อการแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้างด้านการจราจรแล้ว กทม. ยังคำนึง ถึงความปลอดภัย โดยได้กำชับให้บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย โดยมีป้ายบอกก่อนถึงจุดก่อสร้างตัวสถานี และบริเวณก่อสร้าง เพื่อเตือนให้ระมัดระวังไม่เข้าไปใกล้แผงกั้นจุดก่อสร้าง นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามจากทางเท้า ไปยังสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถ BRT ด้วย