กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สกว. จับมือ สกอ. มอบรางวัลเชิดชู 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น จาก 7 สถาบัน ด้านรองนายกรัฐมนตรี ฝากถึงนักวิจัยช่วยกันปฏิรูป ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศรองรับประเทศไทย 4.0 ย้ำรัฐบาลจะปลดล็อค อุปสรรคในการทำวิจัยทั้งหมดเพื่อให้นักวิจัยได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้รับผลตอบแทนเมื่อมีการขยายผลต่อยอด
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถานำเรื่อง "การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ของ ประเทศในยุค Thailand 4.0" ในงาน "นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 17 พร้อมมอบ รางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award โดยมีนักวิจัยร่วมงานกว่า 1,000 คน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานวิจัยที่มีคุณค่าก่อให้เกิดปัญญาที่มีความแน่น เกิดจากระบบการกลั่นออกมา เป็นผลที่นำมาใช้งานและต่อยอดได้และก้าวสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ แก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำคัญคือนำไปสู่การพัฒนาด้านพาณิชย์และการค้า เครือข่ายวิจัยถือเป็นเรื่องท้าทายที่พวกพี่ ๆ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา ทุกคนเชื่อมั่นว่าการวิจัยในภาพรวมมีความสำคัญ เมื่อมีการสร้าง งานวิจัยจะเกิดปัญญาและความรู้ ที่นำไปสู่เทคนิคหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นสหวิชา ทำให้เกิดตัวเร่ง ในการ เกิดนวัตกรรม ผลผลิตใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ให้เกิดผลในด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลา นวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ นาโน ชีวภาพ พลังงาน ยางครบวงจร เหล่านี้เรามีพื้นฐานค่อนข้างมากแต่มักจะทำกันเป็นแท่ง ๆ เป็นส่วน ๆ เก็บเป็น ภูมิปัญญาของตัวเอง ยังไม่ถึงเวลาก็เก็บเข้าลิ้นชักจนลืมแล้วอยู่บนหิ้ง นอกจากนี้คนไทยมักไม่เชื่อคนไทยด้วยกันเอง เราต้องพิสูจน์ด้วยการผลิตและขายในต่างประเทศ จนคนไทยตื่นตัวจึงยอมรับ เราถูกกระแสค่านิยม ต้องใช้หรือกินของ จาก ต่างชาติจึงจะเท่ เราพิสูจน์แล้วว่าอาหารไทย ข้าวไทย มีคุณประโยชน์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ต้องอาศัย ทุนวิจัยและเครื่องมือเพื่อต่อยอดสู่ความสำเร็จ สมุนไพรก็เช่นกันในบ้านเรามีมากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่ปัญหา คือผลิตมาแล้วต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค โฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านการรับรองคุณภาพทางยาและอาหาร ทำให้ เป็นอุปสรรคที่เดินไปได้ช้ากว่าต่างประเทศ เราผลิตแล้วยังโฆษณาไม่ได้เพราะจะมีปัญหาด้านกฎหมาย ต้องส่งต่อ ความรู้หรือขายตรง
ประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ใช้ประโยชน์ได้และมีเสถียรภาพ ซึ่งแบ่งย่อย ออกเป็นสาขาต่าง ๆ จาก 10 คลัสเตอร์ใหญ่ ที่สามารถนำมาเป็นประเด็นวิจัย เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และประเทศไทย 4.0 ได้ เพื่อให้เราสามารถพึ่งพาตัวเอง ผลิตเองและซ่อมบำรุงได้ เกิดการสร้างงาน เราต้องดูว่า อะไรที่เป็นจุดแข็งที่เราต้องเร่งพัฒนาตามความต้องการของตลาด และความเท่าเทียม ที่คนไทยทุกคนจะเข้าถึง บริการของภาครัฐ การศึกษา มีโอกาสรับทุนที่จะพัฒนาต่อยอดหรือวิจัย การทำนวัตกรรม ทำงานในเชิงวิชาการ หรือในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เราเปิดโอกาสให้นักวิจัย ที่ใช้ทุนของหลวงไม่จำเป็นต้องทำราชการอย่างเดียว แต่ทำงาน ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ ทั้งหมดนี้อยู่ในกระบวนการปฏิรูปของรัฐบาล ที่เห็นความสำคัญ และให้การ สนับสนุน เหมือนขบวนรถไฟที่ต้องไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดการวิจัย องค์ความรู้ เทคนิคผสมผสานที่ก่อให้เกิดผลผลิต เราได้เตรียมการยกร่างกฎหมายที่เชื่อมโยงงานวิจัย งบประมาณ องค์กร และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
"เราต้องมองใหม่ เลือกเฉพาะงานเร่งด่วน งานที่มีผลกระทบอย่างแท้จริง เชื่อว่าถ้าเราปรับความรู้สึก จากงานที่ เราชอบ แล้วดูว่าตลาดต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นตลาดการค้า ความต้องการของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดูดีมานด์ และซัพพลาย จะแก้ปัญหาหรือทำให้เกิดประโยชน์ในทางใดบ้าง ทำคนเดียวไหวหรือไม่ แต่เชื่อว่าถ้าทำหลายคน เป็นทีม หรือเครือข่ายน่าจะมีผลสัมฤทธิ์มากกว่า เพราะมีความรู้และประสบการณ์ที่ นำมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนทำงานเสริมกัน ให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน การปฏิรูปต้องอาศัยยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งคน งบประมาณ การปลด ล็อคอุปสรรคที่เป็นปัญหา เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราถนัดว่าตรงกันหรือไม่ ใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ สร้างคนที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบวิจัย ในอีก 20 ปีข้างหน้าเราต้องการนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ 60 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน แต่ขณะนี้ ยังอีกห่างไกลมีเพียง 12-14 คนเท่านั้น"
อีกประเด็นสำคัญคือ งบประมาณ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีระบุว่า นอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ยังต้อง มีการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มเป็น 70% ในปี 2562 ควรมีงบต่ำสุด 4 หมื่นล้านบาท งบวิจัยจะได้กระจาย ตามความต้องการสนับสนุนการทำงานเป็นทีมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และให้ภาคการศึกษาและชุมชน ได้มีโอกาส ทำวิจัยด้วย ภาคเอกชนที่มีความสามารถในการชี้เป้าต้องร่วมกำหนดความต้องการของโลก เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ว่าจะอยู่จุดใด จะได้วางแผนการทำวิจัยได้ถูกต้อง มีส่วนร่วมกันตั้งแต่กำหนดโจทย์และงบประมาณ ภาคเอกชนจึงมีส่วน สำคัญมากในการร่วมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เชื่อว่าจากนี้ไปเราจะร่วมมือกับภาคเอกชน และ ประชาชนมากขึ้น เราจะมีคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งน่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ ตั้งแต่เดือน เมษายนเป็นต้นไป
"การปฏิรูปเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติและตรงกับความต้องการ โดยไม่ติดเรื่องงบประมาณและกฎหมายต่าง ๆ จะได้รับการปลดล็อคทั้งหมดเพื่อให้คลี่คลายปัญหา นักวิจัยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ เมื่อมีการขยายผล ต่อนักวิจัย ก็จะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ทำให้คนที่สนใจงานวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม มีมากขึ้น เราต้องตั้งเป้าระบบวิจัย และนวัตกรรมในระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความมั่นคง โดยมีเศรษฐกิจ สังคม องค์ความรู้ บุคลากร และเครือข่าย เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการเดินหน้าประเทศไทยให้เกิดความมั่งคงอย่างยั่งยืน"
ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า สกว. ได้ร่วมกับสำนักงาน คณะกรรมการ การอุดมศึกษา (สกอ.) จัดมอบรางวัลดังกล่าวแก่ 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติแก่วุฒิเมธีวิจัย สกว. ตลอดจนเมธีวิจัย สกว. และนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มีผลงานวิจัยจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ดีเยี่ยม ทั้ง คุณภาพของงานวิจัย ตลอดจนผลกระทบต่อวงวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจ ในการ พัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป โดยนักวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ท่านในสาขาต่าง ๆ จาก 7 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันวิทยสิริเมธี นอกจากนี้ สกว. ยังได้ให้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) จำนวน 13 ท่าน และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น อีก 4 ท่าน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับของที่ระลึก จากรองนายกรัฐมนตรี
วุฒิเมธีวิจัย สกว. ผู้ได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Awards ได้แก่ ศ. ดร.สุจินต์ บุรีรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงานการออกแบบโครงสร้าง ทาง วิศวกรรมอากาศยานด้วยวิธีเมต้าฮิวริสติกส์ และ รศ. ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์แบบใหม่ เพื่อต่อยอด เป็นยารักษาโรคหรือนำไปใช้ในเชิงสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ
นักวิจัยรุ่นกลางผู้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards ได้แก่ 1. รศ. ดร.พญ.อุไรวรรณ พานิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานบทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติ (พืชตระกูลกะหล่ำและตำรับสมุนไพรห้ารากสู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง 2. ผศ. ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ สำนักวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี จากผลงานเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ชนิดตัวเก็บประจุ ไฟฟ้าเคมียิ่งยวด
นักวิจัยรุ่นใหม่ผู้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards ได้แก่ 1. ผศ. ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานชีววิทยาระบบเพื่อความเข้าใจและพัฒนาพืช เพื่อรับมือ สภาวะโลกร้อน 2. ผศ. ดร.วาสนา ปรัชญาสกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากผลงานภาวะอ้วน ร่วมกับ การพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง 3. รศ. ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการสังเคราะห์โมเลกุลนาโนไฮบริดสู่นวัตกรรมวัสดุ 4. ผศ. ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากผลงานนาโนก๊าซเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยของชีวิต และ สิ่งแวดล้อม 5. ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลงานการใช้โฟม ที่ปรับ เสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโน ร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อน ทางแม่เหล็ก ไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟู พื้นที่ปนเปื้อน สารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน 6. ผศ. ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัย บูรพา จากผลงานการจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย