กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
- ครูมีความเชื่อว่าเด็ก LD สามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสมอง
- เปลี่ยนจากครูสอน เป็นโคช ออกแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning / บูรณาการ
- ออกแบบนวัตกรรมเปลี่ยนเด็ก LD ให้อ่านออกเขียนได้
- เปลี่ยนเด็กเกรี้ยวกราด ให้อ่อนโยน สามารถใช้ชีวิตในวิถีปกติได้
ตลอดระยะเวลา 8 ปี ด้วยความเชื่อของครูคนหนึ่ง เชื่อว่าเด็ก LD สามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสมอง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ครูท่านนี้ทำให้เด็ก LD ในโรงเรียนทั้ง 23 คน สามารถอ่านออกเขียนได้ และบางคนกลายเป็นเด็กที่เติบโตมีศักยภาพเทียบเท่ากับเด็กปกติ และด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู จึงนำกระบวนการนี้เข้าสู่ห้องเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กปกติด้วย นี่คือครูยุค 4.0 อย่างแท้จริง
เนื่องในวันครูแห่งชาติ ปี 2561 มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอนำเรื่องราวของ ครูตุ๋ม – ศิริลักษณ์ ชมภูคำ จากโรงเรียนบ้านหินลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม สอนวิชาภาษาไทยระดับชั้น ป.4-6 , ครูประจำชั้น ป.6 และรับผิดชอบดูแลเด็กพิเศษ เด็ก LD (เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้) ของโรงเรียน ซึ่งมีอยู่ 23 คน มาให้เพื่อนครูได้อ่าน เพื่อให้มีพลังใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองในด้านการเรียนการสอน อีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ครูตุ๋มได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว นำไปปรับใช้กับตนเองได้
"จากเดิมเราเป็นครูสอน เหมือนครูเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในห้อง เป็นผู้ที่สั่งการทุกอย่าง เด็กจะต้องอย่านอกกรอบ ที่นี้มันเป็นเรื่องผิดปกติที่มนุษย์เราจะขาดการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เหมือนกับเด็กเป็นหุ่น ครูจะทำอะไรก็ได้ พอครูมามีวิธีการสอนแบบใหม่ ทำให้ครูมีความสุข เด็กมีความสุข เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เด็กได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ปกติของมุนษย์ทั่วไปมี จุดนี้ครูมองว่าสำคัญมากกว่าเนื้อหาวิชาการ"
ตลอดระยะการเป็นครู 25 ปี ในระยะเวลา 10 ปี ให้หลัง ที่ครูตุ๋มได้เริ่มเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนของตนเองให้เข้ากับยุคศตวรรษที่ 21 หลังจากครูได้ตระเวนไปร่วมงานในเวทีอบรมครูตามที่ต่างๆ และได้บทเรียนจากเวที ได้อ่านเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จึงทำให้ครูตุ๋มเริ่มฉุกคิดว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองได้แล้ว ไม่ควรจะทำการเรียนการสอนแบบเดิมเพราะการสอนแบบเดิม เหมือนกับทานอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง มันน่าเบื่อ แล้วเด็กก็เรียนไปแบบซังกะตาย ไม่มีอะไรที่ตื่นเต้น มาเรียนเฉยๆ เหมือนเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีความสุข เมื่อคิดได้แล้วครูก็เริ่มเปลี่ยนแปลงการสอนเป็นแนวทางผสมผสานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning / บูรณาการ ทำให้มองเห็นเด็กเริ่มเรียนสนุกขึ้น
และตลอดเส้นทางชีวิตของการเป็นครูภาษาไทย ครูตุ๋มเริ่มสังเกตเห็นว่า ในแต่ละห้องจะมีนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านเขียนเกินครึ่ง และในจำนวนนั้นเป็นเด็กพิเศษที่เรียกว่า LD (ที่มีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไทย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 -2 กว่า 7 แสน คน มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย ทั้งที่มีระดับสติปัญญา (IQ) ตามปกติ ซึ่งเป็นอาการของเด็ก LD) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีนิสัยก้าวร้าว โมโหร้าย ขี้เบื่อ และอยู่ไม่นิ่ง พ่วงมาด้วย การมองเห็นปัญหาดังกล่าว ทำให้ครูตุ๋มตระหนักและมิอาจปล่อยผ่านได้ ครูจึงคิดค้นหาวิธีที่จะนำพาลูกศิษย์ผู้มีความพิเศษเหล่านี้ให้มีพื้นฐานด้านการเขียนอ่านที่ดีขึ้น โดยได้ออกแบบเครื่องมือการเรียกรู้ ที่เรียกว่ากระบวนการ 6 ขั้นตอนเพื่อฝึกเด็กพิเศษ
ครูตุ๋ม ต้องมีผู้ช่วยคือนักเรียนจิตอาสา จึงจัดให้มีการอบรมและฝึกทักษะการเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กกลุ่มนี้ก่อนเป็นอันดับแรก 6 ขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นที่ 1 ฝึกอ่านทีละขั้นตอนจากง่ายไปยาก ขั้นที่ 2 ฝึกการอ่านควบคู่กับการเขียน ขั้นที่ 3 การคัดลายมือ ขั้นที่ 4 การวาดรูป และการเขียนรูปคำและเขียนคำแทนรูปนั้นๆ ขั้นที่ 5 การนำคำมาแต่งเป็นประโยคสื่อสารรูปหรือเหตุการณ์จริง และขั้นที่ 6 การเขียนอิสระตามความคิดของนักเรียน เมื่อจบการอบรมจะต้องทำแบบฝึกหรือแผนเล็กๆ ว่าจะสอนน้องอย่างไร กระบวนการนี้ นักเรียนจิตอาสาจะต้องใช้จิตศึกษาเชิงบวกเท่านั้น ห้ามดุ ห้ามติ ห้ามต่อว่า ห้ามเร่งรัด ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษากายที่แสดงออก จะต้องไม่ให้น้องรับรู้ว่าตัวน้องมีปัญหา จะต้องฝึกอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ที่จะแสดงออกต่อน้อง สิ่งเหล่านี้ นักเรียนจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ละขั้นต่อยอดจากง่ายไปยาก เริ่มต้นด้วยการวางเป้าหมายเล็กทั้งของคุณครู จิตอาสา และเด็กพิเศษ เมื่อเขาประสบความสำเร็จก็จะเกิดกำลังใจ
เพื่อให้นักเรียนผู้สอนและนักเรียนพิเศษมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น จึงให้จับคู่บัดดี้กัน คอยช่วยเหลือกันในทุกเรื่อง ไปไหนไปด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน เล่นด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนจิตอาสาเข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เด็กพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ครูตุ๋มและพี่จิตอาสา ใช้เวลาช่วงพักเที่ยงเปลี่ยนเป็นชั่วโมงการสอนทักษะการอ่านเขียนให้ลูกศิษย์กลุ่มนี้
ผลจากความรัก ความเมตตา และความทุ่มเท ลูกศิษย์ของครูตุ๋ม หลายต่อหลายคนมีพัฒนาการด้านการอ่านเขียนดีขึ้น ในขณะที่บางคนก็ขยัยบการพัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น เป็นที่น่าชื่นใจของครู
"ที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ น้องเจนนี่ ตั้งแต่อนุบาล เขาจะเป็นเด็กที่ไม่อยู่ในห้องเรียน เขาจะเป็นนักสำรวจ เป็น LD แท้ด้านสติปัญญา สายตาสั้น สมาธิสั้น เป็นเด็กพิการซ้ำซ้อน ครูได้เข้าไปดูแลตอนที่เขามาอยู่ ป.2 ให้เขามาเรียนพิเศษตอนกลางวัน และเนื่องจากครูสอนภาษาไทยป.3 – ป.6 อยู่แล้วทำให้มีเวลาดูแลเขามากขึ้น หลังจากสอนปกติ ครูจะแบ่งเวลาให้เขาวันละ 15 นาที พาเขาอ่าน พาเขาเขียน ปรากฎว่า ป.4 เขาอ่านหนังสือ ดร.กลาง ได้ 8 บท เป็นเรื่องที่ครูทึ่งมาก พอขึ้น ป.5 เริ่มอ่านนิทานได้แล้ว เริ่มเขียนลายมือสวยขึ้น พอขึ้น ป.6 อ่านคล่องมากขึ้น ตอนนี้เขาอยู่ชั้น ม.1 เขาอ่านหนังสือในชั้นเรียนได้แล้ว เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นแล้วจะไม่เชื่อ แม้แต่ครูเองก็ไม่เชื่อว่าเขาทำได้ จากที่เขาไม่รู้อะไรเลย แต่เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงให้เขาอ่านออกเขียนได้ แต่ทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ทำให้เขามีวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตตามปกติได้แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าภูมิใจมาก
นอกจากวิชาภาษาไทยที่ดีขึ้นแล้ว วิชาอื่นๆ น้องเจนนี่ก็ดีขึ้น เขาสามารถเรียนร่วมกับเพื่อนปกติได้ การเปลี่ยนแปงด้านพฤติกรรม เขามีความสุขมากขึ้น มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น อุปนิสัยส่วนตัวก็รู้จักการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักหน้าที่มาโรงเรียนทุกวัน มีความรับผิดชอบในงานที่ครูมอบหมาย ส่วนผลลัพธ์เหมือนเด็กปกติทั่วไป อย่างผลโอเน็ต เอ็นที ยังเอามาวัดมาตรฐานไม่ได้ แต่มองคุณภาพชีวิตของเขาเปลี่ยนไปมากจากที่ครูเห็น"
และอีกเคสหนึ่งที่ครูตุ๋มภาคภูมิใจ คือ น้องทอฝัน ที่เป็นเพื่อนร่วมห้องกับน้องเจนนี่ เป็นเด็กที่ไม่ได้บกพร่องมาก แต่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เกรี้ยวกราด สมาธิสั้น ไม่มีเพื่อน ตอนนี้เรียนอยู่ ม.1 ครูตุ๋ม พามาดูแลตอนป.2 การเปลี่ยนแปลงตอนอยู่ ป.5 สอบได้คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาอยู่ในลำดับที่ 5 จากเด็ก 16 คน ตอนนี้ได้เป็นพี่จิตอาสาที่สามารถดูแลน้องๆได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือด้านอารมณ์ มีความสุภาพ อ่อนโยน สามารถร่วมกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ เป็นนักกีฬาโรงเรียน ได้รับเสียงสะท้อนจากพ่อแม่ที่พอเจอครูทีไรก็น้ำตาคลอ "...เขาไม่คิดว่าครูจะช่วยลูกเขาขนาดนี้"
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความสำเร็จที่เติบโตอย่างกล้าแกร่งเป็นเด็กพิเศษรุ่นแรก น้องเดียว – ชาญณรงค์ ขานพล ตอนนี้เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตร ปี 2 ใน สาขาสัตวแพทย์ ดูแลผสมพันธุ์หมู วัว เก่งมาก และอีกคนได้แก่ น้องเดียร์ ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ป. 5 เป็นนักกีฬาโรงเรียน คว้าแชมป์ทุกประเภทกีฬาทั้งฟุตซอล ฟุตบอล ตะกร้อ เปตอง อ่านหนังสือคล่อง ลายมือสวย ไม่น่าเชื่อว่าน้องเดียร์ตอนป.1 ที่จะมีอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราดไม่เรียนหนังสือจะกลายเป็นเด็กที่เป็นที่ยอมรับ และกลายมาเป็นพี่จิตอาสาที่ช่วยสอนเพื่อนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากนวัตกรรมของครูตุ๋ม
การพัฒนาเด็ก LD ให้อ่านออกเขียนได้ ใช้เวลาเข้าปีที่ 4 -5 ครูตุ๋มเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กกลุ่มนี้ จึงย้อนคิดกลับมาว่าเมื่อเราสามารถแก้ไขปรับปรุงเด็ก LD ได้ แล้วกับเด็กปกติเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้เชียวหรือ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ครูตุ๋มนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Lerning / บูรณาการ เข้าสู่ชั้นเรียน ป.4 - 6 "การนำเทคนิควิธีการใหม่ๆ มาใช้กับเด็กปกติน่าจะง่ายกว่าไหม สนุกกว่าไหม น่าจะทำได้ไหม พอนำไปทำแล้วเห็นว่าเด็กปกติเขาเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรือล้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักร่วมมือ รู้จักยอมรับและรับฟังคนอื่นมากขึ้น
วิธีการสอนแบบใหม่ของครูตุ๋ม ครูตุ๋มจะนำเอาบริบทของเด็กและครูเข้าร่วม โดยดูพัฒนาการของเด็กด้วยว่าใช้เครื่องมือนี้แล้วเกิดประโยชน์ไหม เช่น ในวิชาภาษาไทยใช้ mindmap ให้เด็กฝึกอ่านจับใจความ ฝึกเขียนเล่าเรื่อง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานเรื่องการเขียนเรียงความ เขียนจดหมาย การใช้ภาษาและการสะกดคำ ในกิจกรรมภาคบ่ายวันศุกร์ เป็นชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เมื่อเห็นว่าเด็กขาดทักษะการใช้เครื่องมือสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ ก็นำศาสตร์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ PBL (problem-based learning) เข้ามาหลอมรวมกัน ออกแบบให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม ได้ฝึกการใช้เครื่องมือ ฝึกการสืบค้นจากกูเกิ้ล
ในชั่วโมงนี้ครูตุ๋มได้ออกแบบเป็น 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.สันทนาการ ให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วมในการผ่อนคลาย มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ละลายพฤติกรรม ใช้เวลาประมาณ 10 นาที 2.จิตปัญญา ให้เขามีสมาธิ อยู่กับตัวตน ให้เขารู้จักใคร่ครวญ รู้จักคุณค่าตนเอง ผู้อื่น รู้จักรับฟัง รู้จักชื่นชมตนเองและผู้อื่น กิจกรรมตรงนี้ ให้เขาเล่าด้วย บางครั้งตั้งคำถามว่าวันนี้หนูทำความดีกับใคร ทำไมถึงทำ ทำเพราะอะไร หรือบางทีเอาของมาวางกองไว้ตรงกลางและให้เขาพูดสั้นๆ ว่าของนั้นเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร พูดแบบไม่มีผิด ไม่มีถูก ตรงนี้ต้องการฝึกทึกษะให้เขากล้าพูด กล้าแสดงออก ให้เขามีอิสระในการฝึกการพูด มีความคิดที่อิสระมากขึ้น กิจกรรมที่ 3 เทคนิค 5 ภาพ ฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นทีม ระดมความคิด บันทึกข้อมูล (ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ วิธีแก้ สิ่งที่อยากเห็น) เสร็จแล้วนำเสนอเป็นกลุ่ม เป็นการเรียนแบบ PBL (Problem-based Learning) ผสมกับ PLC (Professional Learning Community) นำ "ปัญหาที่ใกลตัวเด็ก"มาเป็น "โจทย์" เช่น ปัญหาขยะในโรงเรียน 4.สะท้อนผลการทำกิจกรรม (ถอดบทเรียน) โดยใช้ Hand Skills อย่างสร้างสรรค์ ใช้งานศิลปะเข้ามาขัดเกลาตัวเอง ให้นักเรียนเขียนรูปมือ 5 นิ้ว มีประเด็นคำถามคือ 1.รู้สึกอย่างไร 2.ประทับใจอะไรบ้าง 3.ทำอะไรได้บ้าง 4.รู้อะไร 5.จะนำไปใช้อย่างไรในชีวิตประจำวันเมื่อมีปัญหา
ครูตุ๋มได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ เพื่อสอนให้กับเด็กในชั้นเรียนมานานกว่า 4 ปี ได้มองเห็นผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กปกติ และเด็กพิเศษเมื่อมาเรียนในห้องเดียวกันสามารถเรียนไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี จากเด็ก LD ส่งต่อความรักถึงเด็กปกติ วันนี้ ที่โรงเรียนแห่งนี้เด็กๆ มีความสุขที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน
"ไม่ว่าครูยุคไหน ในความรู้สึกของครู ครูคือผู้ที่จะสั่งสอนอบรมให้ลูกศิษย์เป็นคนดี มีความรู้ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ต้องดูแลลูกศิษย์ให้เป็นคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม หมายถึงสอนเขาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่อเป็นครูยุค 4.0 ครูต้องเพิ่มทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์ และอยากฝากถึงเพื่อนครู ก่อนอื่นต้องมีความสุขในการเป็นครูก่อน มีความสุขที่จะมาโรงเรียน แก้ปัญหาอย่างมีความสุข อยากให้ครูมองปัญหาในห้องเรียนเป็นความท้าทาย เด็กคือแบบฝึกหัดของเราด้วย ไม่ใช่แค่เราสอนเด็ก แต่เด็กคือแบบฝึกที่มีชีวิต ที่ไม่มีอยู่ในตำรา เราต้องลงมือทำเราถึงจะได้คำตอบ"
สุขสันต์วันครู.