กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--Francom Asia
หัวเว่ย ไวร์เลส X Labs จับมือพันธมิตรอุตสาหกรรม ตั้งกลุ่มที่มีความสนใจด้านโรงงานอัจฉริยะไร้สาย (Wireless Connected Factory Special Interest Group) ซึ่งนับเป็นกลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน (SIG) ลำดับที่สาม ที่ X Labs จัดตั้งขึ้นร่วมกับพันธมิตรต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่ม X Labs' Digital Sky และ Wireless eHealth กลุ่ม Wireless Connected Factory SIG เป็นการรวมตัวกันของพันธมิตรจากบริษัทด้านระบบการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) หลายแห่ง เพื่อวิจัยค้นคว้าและส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารบนโครงข่าย 5G ในยุคอุตสาหกรรม 4.0
การประชุมกลุ่ม SIG ครั้งแรกได้จัดขึ้นโดยมีสถาบันสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (China Academy of Information and Communications Technology - CAICT) เป็นผู้กำหนดแนวทาง ซึ่งมีสมาชิก SIG เข้าร่วมการประชุมดังนี้ หัวเว่ย, ABB, Effort, Bosch, Beckhoff, Hikrobot, Geely, KUKA และสถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง (Shenyang Institute of Automation) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) รวมไปถึงชไนเดอร์ อิเล็คทริค
การผลิตที่ยืดหยุ่นด้วยสมาร์ทแมทชีนจะช่วยกำหนดไลน์การผลิตใหม่ในอนาคต เครื่องจักรรุ่นใหม่ในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยี plug-and-play จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและสามารถปรับให้ตรงกับความต้องการของรูปแบบการผลิตในลักษณะต่างๆ สิ่งสำคัญคือ โรงงานต้องมีเครือข่ายสื่อสารประสิทธิภาพสูงและทรงพลัง เพื่อรองรับเครื่องจักรอัจฉริยะนี้ เทคโนโลยีไร้สายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยลดต้นทุนการสร้างเครือข่ายและการซ่อมบำรุง ช่วยเพิ่มทั้งผลิตภาพและความปลอดภัยได้อย่างมีนัยสำคัญ
อุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุดสำหรับการใช้งาน IoT จากการวิเคราะห์โดยหัวเว่ย ไวร์เลส X Labs ในปี 2020 ภาคการผลิตทั่วโลกจะมีการเชื่อมโยงสูงถึง 12,500 ล้านจุด โดยเน็ตเวิร์คโรงงานจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี 2017 X Labs ได้กำหนดให้หุ่นยนต์ไร้สายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการวิจัยด้านการใช้งานเทคโนโลยีไร้สาย หลังจากที่ได้ทำงานมากว่าครึ่งปี X Labs และพันธมิตรในกลุ่มได้เลือกหัวข้อทั้งหมด 4 เรื่องตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ คอนโทรลเลอร์ที่ตั้งโปรแกรมได้ผ่านระบบคลาวด์ (Cloud-based programmable logic controllers - PLC), กล้องไร้สายเพื่องานอุตสาหกรรม (Wireless Industrial Cameras), ยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบไร้สาย (Wireless controlled automated guided vehicles - AGV) และอุปกรณ์สวมใส่สำหรับอุตสาหกรรม (Industrial wearables)
มร. สวี่ เหอหยวน รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของสถาบันสารสนเทศและการสื่อสารของจีน กล่าวว่า "การประกาศหลักเกณฑ์เรื่อง "Internet plus advanced manufacturing" จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมและยกระดับภาคการผลิตแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอันทันสมัยจะมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิต การก่อตั้งกลุ่ม Wireless Connected Factory SIG ขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตด้านอุตสาหกรรม (Industrial Internet Industry Alliance) นั้นมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกลุ่ม SIG เพื่อช่วยกันค้นหาเทคโนโลยี มาตรฐานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง"
"ภารกิจในการค้นคว้าการใช้งานเทคโนโลยีไร้สายในอนาคตถือเป็นหน้าที่ของ X Labs" มร. หยิง เหว่ยมิน ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายของหัวเว่ย กล่าว "หัวเว่ยหวังว่า กลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน อาทิ กลุ่มที่จัดตั้งโดย X Labs นี้จะสามารถค้นคว้าและผลักดันให้เกิดการใช้ 5G ตลอดจนส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในด้านการผลิตอัจฉริยะให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ความร่วมมืออย่างแข็งขันนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนสมาร์ทแฟคตอรี่ และหัวเว่ยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตยิ่งขึ้นและค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ"
การประชุมครั้งนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหัวเว่ย, ABB, Hikrobot, Effort, Geely และ Beckhoff เพื่อกำหนดพื้นฐานความร่วมมือเพิ่มเติมที่ชัดเจนระหว่างหัวเว่ยและพันธมิตรทั้งหมด และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของกลุ่ม SIG ต่อไป
ในขณะที่เทคโนโลยี 5G เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว กลุ่ม Wireless Connected Factory SIG จะใช้แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของ Wireless X Lab อย่างเต็มที่ และเตรียมพร้อมในเรื่องของหลักการค้นคว้า รังสรรค์ และสร้างระบบนิเวศร่วมกัน สมาชิก SIG จะทุ่มเทความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมรุดหน้าได้เร็วขึ้น และสร้างโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีไร้สายที่ดีกว่าเดิมในอนาคต