กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำธรรมนูญชุมชนจิตพอเพียงต้านทุจริต แผนงานระยะยาวและแผนประจำปีภายใต้โครงการSTRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
สำหรับพิธีเปิดงานในวันที่ 15 มกราคม 2561 ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "โครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต" การบรรยายหัวข้อ "การสร้างสังคมสุจริตด้วยโมเดล STRONG" โดย รศ.ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช.
การจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำธรรมนูญชุมชนจิตพอเพียงต้านทุจริต ตลอดจนแผนงานระยะยาว และแผนประจำปีของชมรมครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการดำเนินโครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในยุทธศาสตร์ ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการตามแผนบูรณาการการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในแนวทางที่ 2 สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ โดยเฉพาะโค้ช STRONG นับเป็นกำลังสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อผลักดันให้แนวร่วมระดับบุคคลและชุมชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต สามารถถ่ายทอดแนวคิดจิตพอเพียงต้านทุจริตไปสู่บุคคลและกลุ่มบุคคลได้ นำไปสู่การร่วมกันก่อตั้งชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อใช้เป็นกลไกพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนต้านทุจริต จากนั้นชมรม STRONG จะร่วมกับชุมชนกำหนดธรรมนูญชุมชนจิตพอเพียงต้านทุจริตที่เหมาะสมกับภารกิจที่เป็นอยู่ โดยใช้หลักบูรณาการ STRONG ในการพัฒนาวัฒนธรรมต้านทุจริต ซึ่งชมรมดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ช. ในการกำหนดแผนงานระยะยาว แผนงานต่อต้านการทุจริตประจำปี เพื่อการดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน และรายงานผลความสำเร็จของชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตประจำปีต่อไป
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมชนกลุ่มเป้าหมายจะมีจิตพอเพียงในการต้านทุจริต โดยการพัฒนาชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยการประยุกต์ และบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับการสร้างความโปร่งใส การแยกแยะประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมตระหนักรู้ใฝ่รู้ปัญหาการทุจริต และร่วมกันพัฒนาชุมชนให้มีความเอื้ออาทรบนพื้นฐาน ของจริยธรรมและจิตพอเพียง เกิดการป้องปรามการทุจริตในชุมชน เกิดเครือข่ายชุมชนจิตพอเพียงต้านทุจริต และแกนนำในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้มีการสร้างเสริมค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตอย่างกว้างขวาง ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือที่จะช่วยพัฒนากลไกการป้องกันการทุจริตในระดับชุมชน ที่จะนำไปสู่ การลดปัญหาการทุจริตที่บ่อนทำลายประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน