กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
จากการที่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงสถานการณ์การจัดเก็บภาษีบุหรี่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากการใช้ภาษีอันตราใหม่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา โดยรายได้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ในเดือน ธ.ค. 60 ของปีงบประมาณ 2561 เก็บได้ 6,500 ล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 854 ล้านบาทหรือเทียบเท่า 15% ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้ว่าการเก็บภาษีบุหรี่เริ่มกลับสู่สภาพปกติแล้ว โดยมียอดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกเดือน แม้ว่าในช่วง 2-3 เดือนแรกจะเกิดการผันผวนเนื่องจากในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนอัตราภาษี ผู้ประกอบการและผู้ขายมีการเตรียมสินค้าไว้จำนวนมาก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ระบบภาษีใหม่ตอบโจทย์ทั้งรายได้และสุขภาพ พร้อมกังวลว่าการออกมาตรการช่วยโรงงานยาสูบจะขัดกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
รศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับเป็นสัญญาณที่ดีของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าปฏิรูปไว้ เพราะตัวเลขรายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้บุหรี่ราคาถูก 30-50 กว่าบาทในท้องตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้นซึ่งก็เป็นไปตามหลักการควบคุมด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ยังตอบโจทย์รัฐในเรื่องรายได้เข้าเป้าอยู่ ถือว่าระบบภาษีใหม่เริ่มทำงานได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ยอดรายได้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.-ธ.ค. 60) เก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบได้แล้วกว่า 14,500 ล้านบาท เกินจากเป้าหมายไป 2%
เมื่อกล่าวถึงข้อกังวลของผู้ผลิตในประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลออกมาดูแลความเสียหายและเสนอให้กระทรวงการคลังออกมาตรการใหม่มากำหนดเรื่องฐานภาษี เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในตลาดกับบุหรี่ต่างประเทศได้นั้น รศ.ดร.อรรถกฤตมองว่า "ต้องดูว่ามาตรการที่ออกมาจะขัดกับกฎหมายไทย หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศเช่น WTO หรือไม่ และที่สำคัญคือต้องดูข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติของการแข่งขันในตลาดด้วยมิใช่แค่ตัวกฎหมาย เพราะเป็นการแข่งขันกันในตลาดเสรี หากจะมีการออกมาตรการใดมาเป็นพิเศษเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศหรือสร้างความเสียเปรียบทางการตลาดแก่สินค้านำเข้า ตนมองว่าจะทำให้หน่วยงานภาครัฐของไทยสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อตกลง WTO และทำลายบรรยากาศการส่งเสริมการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งในช่วงปลายเดือนนี้ ภาษีกองทุนผู้สูงอายุที่จะเก็บจากสินค้าเหล้า-บุหรี่ อีกร้อยละ 2 ก็จะมีผลบังคับใช้ จึงไม่ควรออกมาตรการใดๆ มากระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่กำลังไปได้ดีในขณะนี้ โครงสร้างภาษีที่ดีต้องยึดหลักความเป็นธรรม โปร่งใส และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การออกมาตรการภาษีใหม่มาตอนนี้อาจถูกมองได้ว่าจงใจใช้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการในประเทศอย่างชัดเจนโดย" รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวสรุป