กรม ปภ . เตือนภาคใต้ เพิ่มความระมัดระวังอันตรายฝนตกหนักช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 50

ข่าวทั่วไป Friday November 9, 2007 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนช่วงเดือน พ.ย — ธ.ค ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้ ระมัดระวังอันตายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 8- 11 พ.ย.นี้ พร้อมประสานให้ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยวาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ สั่งกำชับเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์และรายงานพยากรณ์อากาศ
ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้และอ่าวไทยประกอบกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย โดยจะมีกำลังแรงในบางช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมน้ำของ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล กรม ปภ. จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เพิ่มระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยให้หมั่นติดตามการรายงานพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน สีน้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น ระดับน้ำในลำห้วยขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว มีเสียงดังจากต้นน้ำ ให้รีบขนย้ายทรัพย์สินและอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
สำหรับการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้น กรม.ปภ.ได้สั่งการ ศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักกล ยานพาหนะ เรือนท้องแบน และเครื่องมืออุปกรณ์ ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ และอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ พร้อมประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ให้เตรียมพร้อมรับมือ อุทกภัย วาตภัยและดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยให้ดำเนินการเตรียมความพร้อม ก่อนเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือ ขณะเกิดภัย และการฟื้นฟู
หลังเกิดภัย รวมทั้งจัดทำพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำ ขุดลอกคู คลอง กำจัดวัชพืช เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้สะดวก ตรวจสอบโครงสร้างถนนที่สร้างกีดขวางทางน้ำไหลและปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งสั่งกำชับ เจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ การพยากรณ์อากาศจากหน่วยงานต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง หากคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนทางระบบ SMS เสียงตามสายของหมู่บ้าน สื่อมวลชนในพื้นที่และโทรศัพท์ ตลอดจนเตรียมประสานกำลังคนและเครื่องมือจากหน่วยงานทหารในพื้นที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กรณีเกิดภัยพิบัติ จะได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งให้การช่วยเหลือสิ่งจำเป็นต่อการยังชีพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ.2546 (งบ 50 ล้านบาท) ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม พร้อมทั้งให้เร่งซ่อมแซมสิ่งสาธารณะประโยชน์ ถนน สะพาน เหมือง ฝาย ที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว สุดท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่
สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ