ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า การบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัว ความชัดเจน ทางการเมือง กระตุ้นความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2007 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ส.อ.ท.
ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า การบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัว ความชัดเจน ทางการเมือง กระตุ้นความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดอีก 3 เดือนมีแนวโน้มดีขึ้น
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 525 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 76.0 จาก 72.7 ในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2550 โดยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศได้รับผลดีจากการบริโภคที่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และความชัดเจนทางการเมืองที่มีมากขึ้น เห็นได้จากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และนายกรัฐมนตรีได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้เบื้องต้น (23 ธ.ค. 2550) ที่คาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปีนี้ รวมทั้งการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำดัชนีความเชื่อมั่นในยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับยอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ด้านปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า สืบเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับผลดีมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ต้นทุนพลังงานที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ดัชนีฯ ปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคม ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวน ประกอบกับลักษณะของอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ยังขาดความเชื่อมโยงในทุกระดับ ขาดการรวมตัวกันจึงทำให้ความผันผวนของราคาวัตถุดิบส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันคือ การมีต้นทุนอยู่ในระดับสูง และการแข็งค่าของเงินบาท โดยต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงที่สำคัญ คือ ต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งเกิดจากการผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบหลายๆ ชนิด ประกอบกับกิจการไทยมีการจัดการกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ขาดการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรมหรือภายในคลัสเตอร์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีนและเวียดนามจึงทำให้อุตสาหกรรมของไทยเริ่มสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นคือ ความสามารถในการควบคุมราคาวัตถุดิบ ซึ่งการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์จะช่วยลดความเสี่ยงจาก ราคาวัตถุดิบ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลควรดูแลค่าเงินบาทมิให้แข็งค่าและมีเสถียรภาพ เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ/การบริโภค ส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ และกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ส่งเสริมการแข่งขันด้านตลาดกับต่างประเทศ และเร่งแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ