กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณบดี ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ร่วมกับ IGLP (The Institute for Global Law and Policy) at Harvard Law School และสถาบันเพื่อการยุติธรรม แห่งประเทศไทย (สธท.) จัดสัมมนาทางวิชาการ 'การสรรค์สร้างนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่สู่สังคมไทยและสังคมโลก' ภายใต้หัวข้อ นักกฎหมายที่ประเทศไทยต้องการ กระตุ้นวงการยุติธรรมพัฒนา ก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลจากมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตัวแทนภาคธุรกิจ, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม, วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ตัวแทนภาครัฐ และศ. ณรงค์ ใจหาญ ตัวแทนภาคการศึกษาสาขานิติศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร ณ ห้องประชุม สุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า "จากการสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ นักกฎหมายที่ประเทศไทยต้องการ ได้สะท้อนมุมมองที่หลากหลายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นตัวแทนในวงการต่างๆ โดยมีผลสรุปว่า นักกฎหมายมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ และนักกฎหมายที่ดีควรที่จะสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความเป็นธรรมในสังคม รู้จักฟังและเข้าใจสังคมและศาสตร์อื่นๆ จึงเป็นนักกฎหมาย ที่สังคมไทยและสังคมโลกต้องการในยุคนี้
โดย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงมุมมองถึงยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบทวีค่า สังคมเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน แต่กฎหมายเปลี่ยนไม่ทัน จึงทำให้เกิดระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดปัญหาสังคมและลุกลามต่อไปเหมือนแชร์ลูกโซ่ โดยท่านได้เสนอมุมมองนักกฎหมายรุ่นใหม่ควรจะมี 7 คุณสมบัติ มีความทันสมัย, น่าไว้วางใจ, มีทักษะด้านการสื่อสาร, มีความคิดก้าวหน้า, มีความเข้าใจบริบทสังคม, มีความรู้ด้านการผลิต ยุคไทยแลนด์ 4.0 และตระหนักถึงปัญหาของสังคม
ส่วนมุมจากตัวแทนภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือ เรียกรวมๆ กันว่า บริบทของสังคม นักกฎหมายในยุคนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ของโลก แต่จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กับการประเมินความเสียหายแบบสมเหตุสมผลทางวิชาการ รวมถึงพิจารณาบริบททางสังคมประกอบกัน เพื่อช่วยให้สังคมเกิดความเสมอภาค ความยุติธรรม ลดปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สะท้อนมุมมองจากภาครัฐ ถึงกฎหมายอาจจะถูกในวันแรก แต่ผิดในวันหลัง ถ้ากฎหมายไม่เปลี่ยน แต่โลกเปลี่ยน จึงได้เสนอไว้ อย่างน่าสนใจ ให้นักกฎหมายต้องถอดหมวกของความเป็นนักกฎหมายบ่อยๆ เพื่อ เพิ่มความเป็นมนุษย์ ความยืดหยุ่นและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ถ้าเรามัวแต่ยึดสิทธิและอำนาจ ที่เรามีอยู่ ก็จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเราให้ไปสู่ความสำเร็จหรือการเป็นนักกฎหมายที่ดี
โดย ศ. ณรงค์ ใจหาญ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะทำงานจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ ได้แจกแจงถึงการปรับแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่มีกฎหมายเทคโนโลยี กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยจะมุ่งเน้น ให้นักศึกษารู้หลักหรือคอนเซ็ปต์ในภาพรวม รู้ลึกในบางเรื่อง เพื่อสามารถไปต่อยอดในระดับ ที่สูงขึ้นไป ส่งเสริมให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ ได้เห็นของจริงนอกตำรา นอกห้องเรียน สร้างความรู้ ความเข้าใจที่เป็นไปของสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมไปถึงแก้ไขการวัดผลนักศึกษานอกเหนือจากข้อเขียนแบบที่ผ่านมา แต่เสริมการทำงาน ทำกิจกรรม ทำรายงานเป็นทีม เพื่อลดปัญหาการทำงานร่วมกับผู้อื่น พร้อมสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม"
จากการสัมมนาวิชาการ 'การสรรค์สร้างนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่สู่สังคมไทยและสังคมโลก' ภายใต้หัวข้อ นักกฎหมายที่ประเทศไทยต้องการ ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ภาคการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก บริบทของสังคมและที่สำคัญ คือ สร้างความเป็นธรรมในสังคม