กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--วว.
วว. จับมือสาธารณรัฐเยอรมนีระดมความคิดผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปไทย จัดทำระบบพื้นฐานด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้า..เพิ่มศักยภาพการส่งออกในตลาดสากล
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันฟิสิกส์และมาตรวิทยาเมืองบราวน์ชไวก์และเบอร์ลิน สาธารณรัฐเยอรมนี ระดมความคิดผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาศักยภาพการส่งออกอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของประเทศไทย สู่การจัดทำโครงการส่งเสริมระบบพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพสินค้า (MSTQ) ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในตลาดการค้าสากล
ดร.สุทธิพร ชีวสาธน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. กล่าวชี้แจงภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพการส่งออกอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของประเทศไทย” ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล กรุงเทพฯ ว่า วว. โดยกลุ่มบริการและสถาบันฟิสิกส์และมาตรวิทยาเมืองบราวน์ชไวก์และเบอร์ลิน สาธารณรัฐเยอรมนี (Physikalisch—Technische Bundesanstalt : PTB) มีความร่วมมือในโครงการ Advisory service for the development of quality infrastructure (MSTQ) with special emphasis on agricultural product โดยเลือกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำร่อง ในการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการส่งเสริมระบบพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพสินค้า (MSTQ) ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการยอมรับ และความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในตลาดการค้าสากล
“อุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี เป็นอุตสาหกรรมที่รองรับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ต้นทุนการใช้ทรัพยากรต่ำและเป็นแหล่งการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน อีกทั้งมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ จึงมีความได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันสูง รวมทั้งยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของโลกในระดับสูงได้อีกด้วย” ดร.สุทธิพร กล่าว
โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพสินค้าประกอบด้วย ระบบการวัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ (Metrology) การจัดทำมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานระบบการผลิต (Standards) ระบบการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าตามข้อกำหนดของประเทศผลิตและประเทศคู่ค้า และการสอบเทียบเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตอย่างถูกต้อง (Testing and Calibration) และระบบการให้การรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน (Quality Management) หรือที่เรียกโดยภาพรวมว่า MSTQ ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ปิโตรเคมี พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ยา อาหารและสินค้าทางการเกษตร การทำงานของ MSTQ นั้น เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐฯ, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนต่าง ๆ ที่ต้องมีการประสานงาน และร่วมมือกัน เพื่อให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาระบบ MSTQ ของประเทศไทย ได้เลือกใช้กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการที่หลากหลาย จะทำให้สามารถเข้าใจถึงความต้องการของผู้ประกอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การรับทราบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพสินค้า ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาระบบ MSTQ ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถผลักดันสินค้ากลุ่มผลไม้แปรรูปให้ก้าวสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย และมีแนวโน้มในการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในตลอดระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา หากสิค้ากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุน จะสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้แก่เกษตกรได้อีกทางหนึ่ง
“อุตสาหกรรมอาหาร มีศักยภาพและโอกาสในการแข่งขันสูง แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปัญหาการจัดการวัตถุดิบ การพัฒนากระบวนการผลิต การประกันคุณภาพกระบวนการผลิตและการประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องสร้างความสามารถในการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหาร การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแก่ภาคการผลิต โดยการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรอง HACCP และ GMP เป็นต้น ซึ่งจะมีการควบคุมการผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ เพื่อช่วยสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมได้” ผอ. ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. กล่าว
ผู้ประกอบการขอรับบริการ และขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันเวลาราชการ WWW. tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th