กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในงาน Thailand Focus 2005-Strategists ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ในช่วงเช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เกี่ยวกับการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเศรษฐศาสตร์ นักยุทธศาสตร์ และนักวิเคราะห์ชั้นนำจากต่างประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย และชมรมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศในไทยกว่า 60 คนในหัวข้อ “นโยบายการคลัง และความพร้อมในการลงทุนโครงการขั้นพื้นฐานของประเทศ” ว่า ในช่วงแรกของการเสวนา เป็นการนำเสนอข้อมูลแสดงให้เห็นภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบด้านอุปทานหรือ supply ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรน้ำ น้ำมัน เป็นต้น แนวนโยบายเศรษฐกิจจึงเน้นการจัดการด้านอุปทานให้แข็งแกร่ง พร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน
“ในระยะยาวแล้ว เราทราบว่า ขีดความสามารถของประเทศไทย สามารถมีอัตราการเจริญเติบโตที่เหมาะในระดับ 5 - 6% ต่อปี ดังนั้น เราจึงวางกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินและการคลังด้วย กรอบแนวนโยบายนี้ประกอบด้วย
1) ความมั่นคงทางการคลัง (fiscal sustainability) โดยมีเป้าหมายทำให้งบประมาณสมดุล มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่ำลง และพึ่งพาเงินทุนจากภายนอก หรือมีหนี้ต่างประเทศลดลงเป็นลำดับ โดยความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของไทย เห็นได้จากเงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีประมาณ 3.8 เท่าของหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ รวมถึงการได้รับการปรับเครดิตเรทติ้งถึง 2 ขั้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา
2) การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ (mega-projects) ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างด้านต่างๆ ของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลัง ซึ่งรัฐบาลมีแผนลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาทสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2548 — 2553) สำหรับโครงการด้านพลังงาน ระบบขนส่งมวลชน ที่อยู่อาศัย การศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณของรัฐบาล (39%) เงินกู้ภายในประเทศ (24%) เงินกู้ต่างประเทศ (18%) และรายได้สะสมของรัฐวิสาหกิจต่างๆ (13%) โดย รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 29% ของงบประมาณทั้งหมดสำหรับการลงทุนในโครงการดังกล่าว
3) ความสมดุลของบัญชีเดินสะพัด โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะรักษาระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ระหว่าง 2 — 3 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งเป็นระดับที่ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้ ขณะที่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องกันไป โดยประเด็นเรื่องอัตราการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนี้ เป็นอัตราที่ผู้ลงทุนต่างประเทศในการประชุมครั้งนี้ให้ความเข้าใจและเห็นว่าเป็นอัตราที่รับได้” ดร. ชัยวัฒน์กล่าว
สำหรับประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างชาติให้ความสนใจ มีอาทิ ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณ และฐานะการคลังในการดำเนินงานลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งดร.ชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยที่ร่วมให้ข้อมูลในที่ประชุม ประกอบด้วย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สร้างความมั่นใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เหล่านี้ ว่าไทยดำเนินนโยบายด้วยความรอบคอบและพร้อมยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง จะมีคณะกรรมการติดตาม ประเมินผล และพิจารณาปรับกรอบการลงทุนขนาดใหญ่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น หากโครงการที่มีการพึ่งพาการนำเข้าสูง ก็อาจถูกปรับลดความสำคัญของโครงการลง เพื่อมิให้กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เป็นต้น--จบ--