กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุน DEPA ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 6 จังหวัด บวก 1 เมืองหลวง เน้นพัฒนารูปแบบจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล สร้างประโยชน์อย่างบูรณาการ ด้วยการนำข้อมูลมาใช้เพื่อส่งเสริมพื้นที่อัจฉริยะในมิติต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยว และการลงทุน รวมทั้งเตรียมติดตั้งเสาประชารัฐ และใช้ IoT ในจังหวัดชลบุรี รองรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม EEC อย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการดำเนินงานสำคัญ คือ การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งดำเนินการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ใน 6 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ 1 เมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานคร ผ่านมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของ DEPA 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การให้ความช่วยเหลือหรืออุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Startup) 2) ศึกษา ส่งเสริม วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยภาครัฐ และ 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยภาคเอกชน
โดยที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่องในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่นไปแล้วบางเรื่อง ในปีนี้จะมีการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการต่อยอดและขยายผล ซึ่งกำหนดเป้าหมายแต่ละเมือง จะมีความอัจฉริยะ (smart) อย่างน้อย 2 เรื่อง โดยดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนา eco-system เน้นที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เน้นความสำคัญของข้อมูล การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล (Digitize) ทั้งเมือง เพราะข้อมูลเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยในปี 2561 มีโครงการ City Data Platform ดำเนินการใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อสร้างรูปแบบ (Platform) ในการเชื่อมโยง จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในเมือง เช่น เชื่อมโยงข้อมูลกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ของเทศบาลต่าง ๆ เพื่อให้ตำรวจติดตามอาชญากร เชื่อมโยงข้อมูลจาก IoT Sensors สิ่งแวดล้อมเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติ เชื่อมโยงข้อมูลการใช้ Free Wi-Fi ของทั้งเมือง มาวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวสำหรับใช้ในการวางแผนระบบโลจิสติกส์ (logistics) ซึ่งข้อมูลจะถูกรวบรวมมายังระบบคลาวด์ (Cloud) ของเมือง เพื่อให้ง่ายต่อการแลกเปลี่ยนบูรณาการนำไปต่อยอดวิเคราะห์ (Big Data Analytics) โดยการสร้างเป็น API ในการดึงข้อมูล และมีมาตรฐานของข้อมูล สามารถเปิดให้ภาครัฐหรือเอกชนนำไปต่อยอดเป็นบริการของเมือง และขณะเดียวกันผู้บริหารเมืองจะได้ศูนย์ปฏิบัติการแบบอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) ที่มองเห็นภาพแบบเวลาจริง (Realtime) ของเมืองใช้ในการตัดสินใจสั่งการ
2) ด้านการพัฒนาคน มีการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน (Sustainability Smart City Development) ใช้เวลาเรียน 72 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2561 ประกอบด้วย 4 ชุดวิชา ขอบเขตเนื้อหาของแต่ละชุดวิชา คือ การพัฒนาองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมในการวิเคราะห์แนวทางการปรับเปลี่ยนท้องถิ่นตามการพัฒนาเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ของ Smart City การกำหนดนโยบายของการพัฒนา Smart City ไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาองค์กรกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ในภาคเศรษฐกิจ การลงทุน และการบริการด้านต่าง ๆ ภายในท้องถิ่น รวมถึงการประกอบกิจกรรมเพื่อการสร้างเครือข่าย และการศึกษาต้นแบบจากการเรียนรู้โดยผู้ประกอบการจริง และ 3) ด้านการส่งเสริมการลงทุน ผ่าน 4 มาตรการของ DEPA ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะดำเนินการภายใต้มาตรการเดียวกันด้วย เพื่อให้งบประมาณจากภาครัฐตอบสนองทั้งการยกระดับเมือง เศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทย
สำหรับความคืบหน้าของพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด เริ่มที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นจังหวัดแรกของโครงการฯ ขณะนี้ ได้มีการขับเคลื่อนต่อยอดโครงการ 4 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านความปลอดภัย (Smart Safety) ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ซึ่งได้มีการนำ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมการทำงานในส่วนต่าง ๆ
ในส่วนของจังหวัดขอนแก่น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และร่วมมือกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ ปี 2029 พร้อมกับประกาศใช้ยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ เพื่อรองรับการจัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานสมาร์ทซิตี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม สำคัญที่สุด คือ การมียุทธศาสตร์สมาร์ทซิตี้ จะมีกรอบงบประมาณ กรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน และนำไปสู่ความยั่งยืน ในแผนยุทธศาสตร์ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ 2029 เน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลใน 3 ด้านหลัก คือ 1) การขนส่ง Logistics & Transportation หรือ Smart Mobility 2) ด้านการประชุมและเศรษฐกิจ MICE City หรือ Smart Economy 3) ด้านการแพทย์ Medical & Healthcare หรือ Smart Leaving
ด้านจังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มโครงการสมาร์ทนิมมานเหมินทร์ (Smart Nimmana) จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก คือ จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ DEPA สาขาภาคเหนือตอนบน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะที่ 1 Smart Wi-Fi ซึ่งได้มีการติดตั้ง Access point เรียบร้อย ครอบคลุมถนนนิมมานเหมินทร์ ระยะที่ 2 จะมีการนำแอปพลิเคชั่น Chiangmai I Love U มาใช้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และระยะที่ 3 การทำ Data Analytic จากกล้อง CCTV ในพื้นที่ เพื่อดูความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อจัดทำข้อมูลด้านการตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง DEPA ยังได้วางแผนดำเนินการพัฒนา Smart City เขตอุตสาหกรรม EEC โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี จะมีการติดตั้งเสาประชารัฐจำนวน 100 ต้น เพื่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและเทศบาลนครแหลมฉบัง ด้วย Internet of Things (IoT) ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ กทม. เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ให้คำปรึกษา เชื่อมโยงหน่วยงาน และแนะนำแหล่งทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมทั้ง ยังร่วมนำข้อมูลของเมืองมาต่อยอดให้เกิดบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย