กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าสานต่อโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ชุมชนได้แหล่งอาหารที่สมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ช่วยกักเก็บคาร์บอน ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมสร้างความตระหนักและดูแทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยมุ่งมั่นสานต่อโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลนผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ"ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" มีเป้าหมายปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 5,971 ไร่ ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 2559-2563) โดยปี 2559 - 2560 ปลูกป่าไปแล้ว 3,191 ไร่ และสร้างฝายชะลอน้ำ 24 ฝาย เพื่อช่วยชะลอการไหลเวียนของน้ำและรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน ซึ่งปีนี้เตรียมปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธงอีก 1,200 ไร่ เพาะต้นกล้าเพื่อปลูกซ่อมและปลูกเสริม 99,188 ต้น
ซีพีเอฟมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด โดยร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) สำรวจผลทางกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชน โดยสำรวจ 5 ชุมชนในพื้นที่และชุมชนข้างเคียงรวมทั้งสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกในพื้นที่โครงการ ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่
นอกจากนี้ เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ซีพีเอฟได้ดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โดยจับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภาคประชาสังคมและชุมชน ซึ่งปีนี้ดำเนินโครงการต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ป่าชายเลน 5 ปี (ปี 2557-2561) ปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าชายเลนในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร สมุทรสาคร ระยอง สงขลา และพังงา
ผลดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ป่าชายเลนระยะที่1 (ปี2557-2560) มีพื้นที่ปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่าใหม่ 295 ไร่ จากเป้าหมาย 370 ไร่ และพื้นที่อนุรักษ์ 2,273 ไร่ ช่วยคืนความสมดุลของระบบนิเวศ โดยปี 2561 ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าว ซีพีเอฟยังคงสนับสนุนงบประมาณเพื่อปลูกซ่อม กำจัดเพรียง กำจัดขยะ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชนสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนโดยให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการตามความพร้อมและศักยภาพของชุมชนในพื้นที่
นายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ดูแลรับผิดชอบด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ทช.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ทั้งการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เข้ามาทำกิจกรรมปลูกป่าต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามดูแลและบำรุงรักษาพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอดตายสูง และในระยะต่อไปเมื่อต้นกล้าเติบโตขึ้นก็จะช่วยในเรื่องของการกักเก็บคาร์บอน
"การที่ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งป่าชายเลน เป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อพื้นที่และสอดรับกับนโยบายของทช. สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างจิตสำนึกในการร่วมช่วยกันดูแลทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในรูปแบบของประชารัฐ ซึ่งการปลูกป่าชายเลนเริ่มส่งผลที่เป็นรูปธรรมเล้วจากความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าให้แก่เยาวชน'' ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ทช.กล่าว
ทางด้าน ดร.ขรรค์ชัย ประสานัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับทุกคน ดังนั้นการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อผลสำเร็จอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้และป่าชายเลน ประกอบกับภาคเอกชนเห็นความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการมีความยั่งยืน
ดร.สุรินทร์ อ้นพรม อาจารย์คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักช่วยให้ชุมชนและชาวบ้านในหมู่บ้านรอบพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีรายได้จากค่าจ้างที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเข้ามารับจ้างทำกิจกรรมต่างๆของโครงการ และยังถือเป็นการฟื้นฟูแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ให้แก่ชุมชนรอบพื้นที่ในระยะยาว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟขับเคลื่อนกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่" ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (The United Nations Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ประกอบด้วย ประเด็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (เป้าหมายที่13) การอนุรักษ์และใช้มหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 14) การปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งการเสื่อมโทรมของดินและฟื้นฟูสภาพดินและหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายที่ 15) และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17)