กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่าเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกครอบคลุมทุกมิติ น้อมนำโครงการพระราชดำริสร้างป่า สร้างรายได้มาใช้ในการ ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร พร้อมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติ "4 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ และการบังคับใช้กฎหมาย" ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน / เมือง และพื้นที่ริมทาง พร้อมกำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ลักลอบ จุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา เพื่อควบคุมปัญหาไฟป่าและวิกฤตหมอกควัน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศไทยมักประสบปัญหาไฟป่า ทำให้เกิดวิกฤตหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่าเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกและครอบคลุมทุกมิติ โดยกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงไฟป่าและพื้นที่การเกษตรที่มีการเผา รวมทั้งถอดบทเรียน การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน พร้อมปรับปรุงแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย กำหนดภารกิจ และหน่วยงานรับผิดชอบ อย่างชัดเจน สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน ได้น้อมนำโครงการพระราชดำริสร้างป่า สร้างรายได้ มาใช้ในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร พร้อมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ ภายใต้แนวทางการปฏิบัติ "4 มาตรการ เชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ และการบังคับใช้กฎหมาย" ประกอบด้วย 4 มาตรการเชิงพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าสงวน / ป่าอนุรักษ์ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก โดยจัดทำแนวกันไฟ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่า รวมถึงกำหนดกติกาชุมชนห้ามเผาป่า 2) พื้นที่เกษตรกรรม มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก โดยกำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา รวมถึงรณรงค์การไถกลบ การใช้สารย่อยสลายแทนการเผาวัชพืช อีกทั้งจัดอาสาสมัครเฝ้าระวังการลักลอบเผาในพื้นที่การเกษตร 3) พื้นที่ชุมชน / เมือง ให้จังหวัดอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดกติกาชุมชน โดยใช้กลไกประชารัฐในการป้องกันและเฝ้าระวังการเผา พร้อมจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบล/หมู่บ้าน ชี้แจงมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน และ 4) พื้นที่ริมทาง มีกระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังและควบคุมการเผา พร้อมกำจัดเศษวัสดุและใบไม้แห้งบริเวณพื้นที่ริมทาง ส่วน 4 มาตรการบริหารจัดการ ได้แก่ 1) การวางระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างมีเอกภาพ 2) การสร้างความตระหนัก เน้นการประชาสัมพันธ์ผลกระทบของไฟป่าและหมอกควัน บทลงโทษจากการลักลอบจุดไฟในพื้นที่ พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้และสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 3) การลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยจัดทำแนวกันไฟและควบคุมการเผา พร้อมส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพ เพื่อย่อยสลายตอซัง และรณรงค์การฝังกลบขยะและการไถกลบแทนการเผา รวมถึงผลักดันการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และ 4) การมีส่วนร่วมของจิตอาสาประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมป้องกันปัญหาไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง อีกทั้งกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ โดยให้จังหวัดที่มีท่าอากาศยานประสานงานกับศูนย์ควบคุมการบิน เพื่อรายงานสภาพอากาศ และสถานการณ์หมอกควัน รวมถึงวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยในการบิน ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสานพลังประชารัฐขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในมิติเชิงพื้นที่ เพื่อควบคุมปัญหาไฟป่าและวิกฤตหมอกควันให้เป็นศูนย์