กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จับมือร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชูผลงานทางวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาประเทศสนองนโยบายรัฐ ร่วมขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ ยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตอกย้ำความเชื่อมั่นถึงระบบการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยที่สามารถให้การรับรองผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพออกสู่ตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในระดับโลก
ด้วยการยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทย หลังจากที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพในยุคการค้าเสรีที่มาตรฐานนั้น ต้องเป็นไปตามหลักสากลที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภคและขจัดปัญหาการกีดกันทางการค้า (Non-Tariffs Barrier) ต่อสินค้าไทยที่ต้องการส่งไปขึ้นทะเบียนกับ อย.ในประเทศคู่ค้า รวมถึงคนไทยเองก็จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองและการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ในระดับมาตรฐานสากล โดยศูนย์ทดสอบภายในประเทศไทยเอง
ดังนั้น จึงร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ "OECD GLP Implementation for Test Facility" ในวันที่ 15 - 16 มกราคม 2561 เวลา 09.00 - 16.30 น. ณ ห้องทิพวรรณ บอลรูม โรงแรม ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี แก่ ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก เภสัชกร นักพิษวิทยา นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลอง นักวิจัย นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการในการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะผู้ตรวจประเมิน (Inspectors) ต่องานศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก สร้างความสามารถหน่วยทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และห้องปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์ OECD GLP และพัฒนาศักยภาพ National OECD GLP Compliance Monitoring Authority (CMA) ของประเทศไทยด้วย
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย บนพื้นฐานของการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำประเทศไทยหลุดพ้น"กับดักรายได้ปานกลาง" (Middle Income Trap) และออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ในอนาคต อาศัยการนำงานด้านชีววิทยาศาสตร์มาช่วยสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตามนโยบาย 1. เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 2. ลดความเหลื่อมล้ำ และ3. ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้มั่นใจว่า โครงการการยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทยนั้น จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในขั้นตอนของการวิจัย จนก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาดได้จริง โดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รับรองความปลอดภัยของทุกผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับสากล ซึ่งนับว่าขณะนี้ประเทศไทยได้ผ่านการยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังรับประกันความมั่นใจด้วยการที่ทุกผลิตภัณฑ์นั้นสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และตอบทุกคำถามด้านความปลอดภัยหากเกิดกระบวนการขอตรวจสอบซ้ำ"
ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ทีเซล (TCELS) ได้แบ่งการสนับสนุนโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการและการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Inspectors) ความสามารถห้องปฏิบัติการ และ 2. พัฒนาศักยภาพ National OECD GLP Compliance Monitoring Authority (CMA) ของประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ OECD GLP โดย ทีเซล (TCELS) เริ่มมอบทุนเพื่อยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แก่ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากนั้นได้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Inspectors) และพัฒนาศักยภาพ CMA นั้น ทีเซล (TCELS) ได้ให้ทุนสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แก่ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย"
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับมอบหมายให้เป็น CMA ของประเทศไทยในการตรวจประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการทางด้านการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Inspectors) และพัฒนาศักยภาพ CMA มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี และได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ Bio equivalence ไปแล้วกว่า 10 แห่งทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2560 นี้ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการแก่ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับเรื่องข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์จากกลุ่มประเทศ OECD และภาคีความร่วมมือจากทั่วโลก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมเป็นสื่อกลางที่มีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยระหว่างประเทศ
ร.ศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ศูนย์ฯ มีพันธกิจในการผลิตสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อบริการแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน การบริหารจัดการระบบงานมาตรฐาน ได้รับการประกันคุณภาพในระบบต่างๆ รวมทั้งการร่วมทุนในระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้านการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ พบว่าประเทศไทยยังขาดช่วงของการพัฒนายา เรื่องการศึกษาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิก (pre-clinic) เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่ผ่านการรับรองจาก OECD GLP ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงเกิดความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การจัดทำการประกันคุณภาพระบบต่างๆ ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการจัดการด้านข้อมูล และการจัดเก็บเอกสารให้มีความปลอดภัยสูงสุด มีการประเมินผลเป็นระยะโดยผู้ตรวจประเมินที่ได้การรับรอง มีการปรับปรุงแก้ไขและตรวจประเมินซ้ำ ด้วยการสนับสนุนทุนจาก ทีเซล (TCELS) ตลอดถึงหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ จึงทำให้ศูนย์ฯ สามารถพัฒนาศักยภาพจนเป็นหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยให้บริการทดสอบความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของ OECD GLP แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560"