วิทยพัฒน์ ชี้ตำราเรียนไทยได้รับผลกระทบจากการถ่ายเอกสาร

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2007 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--วิทยพัฒน์
- ส่งผลให้อาจารย์ขาดกำลังใจเขียนตำราวิชาการ
- สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการคิดค้นนวัตกรรม Copy Protect
บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตตำราระดับอุดมศึกษา ชี้ไม่เพียงตำราต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายเอกสารของนักศึกษา แต่ตำราที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์คนไทยก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ส่งผลให้อาจารย์ขาดกำลังใจในการเขียนตำราวิชาการ สำนักพิมพ์เองก็ทำงานยากขึ้น
นายสาธิต อุรุวงศ์วณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด กล่าวว่าตามที่นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการดูแลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเอกสารตำราเรียนที่มีลิขสิทธิ์ตามที่ต่างประเทศระบุ การละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่เพียงแต่สำนักพิมพ์ต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบ สำนักพิมพ์ของคนไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน
“ความจริงแล้ว เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้ว เดิมเป็นปัญหามาจากตำราที่ผลิตจากต่างประเทศมีราคาแพงและหายาก จึงมีการนำไปถ่ายเอกสาร ต่อมาก็เลยลามไปถึงตำราไทยแม้ตำราไทยจะมีราคาไม่แพงและหาไม่ยากก็ตาม และมีการปฏิบัติต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นเรื่องปกติ” นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการถ่ายเอกสารนั้น สำนักพิมพ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่เน้นการพิมพ์ตำราเรียนระดับอุดมศึกษา ได้รับผลกระทบในด้านการขายพอสมควร รวมทั้งเมื่อมองในภาพรวมแล้ว การละเมิดลิขสิทธิ์ตำราด้วยการถ่ายเอกสารเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการเขียนตำราของอาจารย์ ทางด้านสำนักพิมพ์เองก็ทำงานยากขึ้น ตำราดี ๆ หลายต่อหลายเล่มอาจไม่ได้รับการจัดพิมพ์เพราะพิมพ์แล้วอาจขายไม่ได้ ในระยะยาวแล้วจะกระทบถึงคุณภาพของการศึกษา
“ผมอยากจะเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญานำประเด็นสำนักพิมพ์ไทยรวมเข้าไปด้วยในการเจรจากับ สกอ. และหากเป็นไปได้ก็อยากจะย้ำว่าตำราเรียนของสำนักพิมพ์ไทยนั้นราคาไม่ได้แพงอย่างที่คิด บางเล่มถูกกว่าถ่ายเอกสารด้วยซ้ำ ตำราต่างประเทศราคาหลักพัน แต่ตำราไทยราคาร้อยกว่าบาทถึงสามร้อยกว่าบาท แต่ก็ถูกถ่ายเอกสารเหมือนกัน” นายสาธิตกล่าว
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาและสร้างจิตสำนึกในเรื่องการถ่ายเอกสารตำราเรียนนั้น นายสาธิตกล่าวว่าสำนักพิมพ์วิทยพัฒน์ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดคือเทคนิค Copy Protect โดยตำราที่จัดพิมพ์ด้วยระบบ Copy Protect นั้น หากถูกนำไปถ่ายเอกสาร ข้อความแจ้งเตือนเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่พิมพ์ซ่อนเอาไว้จะไปปรากฏอยู่ในสำเนาที่ได้ออกมา
“เราทราบดีว่าเส้นแบ่งระหว่างวิทยาทานกับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมันบางมาก แต่เราเองไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ กับนักศึกษา เพราะผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สิ่งที่เราหวังอย่างมากก็คือการสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้มากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง” นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวว่า ขณะนี้วิทยพัฒน์ได้เริ่มนำมาใช้ผลิตตำราเรียนตั้งแต่ปีการศึกษานี้แล้วจำนวน 6 เล่ม และจะใช้นวัตกรรมนี้กับตำราเรียนที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งนี้นอกจากเพื่อป้องกันปัญหาข้างต้นแล้ว ยังเป็นการเน้นย้ำถึงปรัชญาในการทำงานของวิทยพัฒน์ นั่นคือ ปรัชญาการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนซึ่งไม่ได้เน้นผลกำไรสูงสุด แต่เน้นการยังประโยชน์แก่ทุกฝ่าย หากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตำราด้วยการถ่ายเอกสารบรรเทาเบาบางลงไปได้ อาจารย์ก็จะมีกำลังใจในการเขียนตำรามากยิ่งขึ้น สำนักพิมพ์เองก็อยู่ได้ นักศึกษาเองก็มีตำราดี ๆ หลากหลายให้เลือกใช้มากยิ่งขึ้น การศึกษาของชาติก็พัฒนาไปข้างหน้า ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 081 682 2575
Email virathr@wphat.com

แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ