กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปรับภูมิคุ้มกันจากพุงทะลาย” ช่วยกระตุ้นการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์...ป้องกันและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย และพบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ระบุผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ผ่านการประเมินความปลอดภัยด้านการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน ความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง และฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ หวังลดการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปรับภูมิคุ้มกันจากพุงทะลาย” หรือ “Scamulan” มีประสิทธิภาพปรับภูมิคุ้มกันในร่างกายเทียบเท่ายากับสารมาตรฐาน และให้ผลต้านการอักเสบที่มีกลไกเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
ทั้งนี้ วว. ได้ประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ Scamulan โดยทำการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน (LD50) ความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (OECD subchronic toxicity) ตลอดจนฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ของผลิตภัณฑ์ (Micronucleus assay) พบว่า ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ โดยทำการศึกษาปัจจัยคุณภาพทางด้านกายภาพ เคมี และจุลินทรีย์พบว่า ผลิตภัณฑ์ Scamulan มีอายุการเก็บรักษามากกว่า 2 ปี และยังได้ทำการศึกษาข้อมูลวัตถุดิบ คุณค่าทางโภชนาการ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ข้อมูลวิเคราะห์ทางด้านการเงินและการตลาด เพื่อพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่ภาคเอกชนด้วย
“ปัจจุบันกระแสความนิยมด้านความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีมาก เนื่องจากความตื่นตัวในการป้องกันและเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ประกอบกับโรคบางชนิดไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน ประชาชนจึงหันมาใส่ใจบำรุงสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณสูง จากกระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้เกิดช่องทางการตลาดแก่ภาคอุตสาหกรรม ในการมองหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพจากวัตถุดิบในประเทศ จากความสำเร็จของ วว. ในครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างแนวทางธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นางฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์ Scamulan เป็นผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงาน “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน” ซึ่ง วว. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและคัดเลือกพืชที่มีรายงานฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและพืชที่น่าสนใจจำนวน 20 ชนิด ได้แก่ แครอท ถั่วเหลือง พุงทะลาย เม็ดแมงลัก ลูกยอ ลูกเดือย กระเทียม ว่านหางจระเข้ มะเขือเทศ ขิง ขมิ้น กะเพรา คื่นช่าย กระชายดำ บัวบก พริกไทยดำ โหระพา ตะไคร้ กล้วยน้ำว้าและกระชาย โดยนำพืชทั้ง 20 ชนิดมาทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์ พบว่า สารสกัดพุงทะลายให้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายในหลอดทดลองได้ดีที่สุด วว. จึงนำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Scamulan ดังกล่าว
“เมื่อใดที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานปกติ ร่างกายของเราก็จะแข็งแรง โอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ก็จะลดลง แต่เมื่อใดที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เราก็จะติดเชื้อโรคต่างๆ ได้โดยง่าย ดังนั้นด้วยสรรพคุณของสารสกัดจากพุงทะลาย ซึ่ง วว. ได้วิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Scamulan จะช่วยให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่เข้มแข็ง และกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย” นางฉันทรากล่าว
“พุงทะลาย” เป็นพืชพื้นเมืองของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium Scaphigerum (G.Don) โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อของ “ลูกสำรอง” หรือภาษาอีสานจะเรียกว่า “หมากจอง” โดยต้นพุงทะลายนั้น เป็นไม้ป่าที่มีลักษณะสูงชะลูดประมาณ 30-40 เมตร พบมากในจังหวัดจันทบุรี ตราด และทางภาคอีสานจะพบที่จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ผลพุงทะลายเมื่อนำไปแช่น้ำจะพองตัวออกและให้สารคล้ายเมือก มีสรรพคุณแก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้ร้อนในกระหายน้ำและแก้อักเสบ จากการศึกษาคุณสมบัติทางเคมีของสารเมือกพุงทะลายพบว่า เป็นสารประเภท polysaccharide ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่าประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ได้แก่ arabinose, galactose, rhamnose, glucose, xylose และ mannose ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพุงทะลาย “Scamulan” ยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในเชิงการค้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อได้ที่ E-mail : tistr@tistr.or.th