กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่ 16 มกราคม 2561 ณ ห้องโถง อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ/ กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดแถลงข่าว "โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม ปี 2561" โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยมี ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการแถลงข่าวและเสวนา พร้อมด้วยนางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วย น.ส. อุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และผู้บริหารเข้าร่วมงานแถลงข่าวและเสวนา
ดร.นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดำเนินการถ่ายทอดนวัตกรรมด้านสิ่งทอสู่ผู้ประกอบการชุมชน OTOP และ SMEs ใน 10 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานสู่สากล ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้กับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 กลุ่ม 500 ราย 100 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 และจะมีการนำผลงานจากโครงการมาจัดแสดงในเดือนกันยายน 2561 โดยคาดหวังว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 20% และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 10%
นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำนวัตกรรม Color ID labeling ซึ่งจะช่วยให้ทราบที่มาของสีย้อมธรรมชาติ และการยกระดับผ้าฝ้ายเข็นมือและผ้าไหมพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติของไทยที่สวยงาม ให้เทียบเท่ากับ ผ้าแบรนด์ระดับโลก เช่น D&G โดยมีนักการตลาดซึ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ American Paris Academy ดีไซเนอร์ระดับสากล และ Brand Manager จาก Club 21 มาเป็นที่ปรึกษาด้วยอย่างไรก็ตาม
ด้าน ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม เป็นโครงการภายใต้แนวคิด การใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ผสมผสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์จังหวัด ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานให้มีรูปแบบมาตรฐานสากลร่วมสมัย เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง การยกระดับ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยนวัตกรรมให้เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างศักยภาพและความยั่งยืนให้กับสินค้าท้องถิ่นผลิตภัณฑ์โอทอปและพร้อมก้าวสู่เวทีโลกต่อไป
สำหรับ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้นำนวัตกรรมสิ่งทออัจฉริยะ วัสดุเส้นใยใหม่ Functional Textile และ การย้อมสีจากบัวแดงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต การถ่ายทอด ความรู้ในการเลือกใช้วัสดุเส้นใยใหม่ๆ และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น การตกแต่งสะท้อนน้ำ การเพิ่มกลิ่นหอม ผ้าป้องกันรังสียูวี ผ้าที่ซักล้างสิ่งสกปรกออกง่าย ผ้าที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่นความคงทนของสี การเลือกใช้สีและสารเคมีในการย้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการออกแบบการเลือกใช้เทรนด์สีที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อันจะก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่างและยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยนวัตกรรมให้เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผ้าทออีสาน แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความสำคัญของผ้าทอให้คงอยู่กับวัฒนธรรมไทยตลอดไป