กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--บีโอไอ
บีโอไอมั่นใจ "สมาร์ทวีซ่า" จะช่วยจูงใจให้เกิดการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานและอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมชูจุดเด่นของ "สมาร์ทวีซ่า" ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานหรือลงทุนของผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุนจากทั่วโลก
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงความมั่นใจว่าสมาร์ทวีซ่า (SMART VISA) ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0
"ปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนนั้น นอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์แล้ว การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ยกระดับการให้บริการแก่ภาคธุรกิจจนทำให้ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของไทยดีขึ้นจากอันดับที่ 46 มาเป็นอันดับที่ 26 ดังนั้น สมาร์ทวีซ่าจะยิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นด้วย" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ทั้งนี้ สมาร์ทวีซ่า เป็นวีซ่าประเภทพิเศษสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ และเป็นกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า สมาร์ทวีซ่า จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) นักลงทุน (Investor) 3) ผู้บริหารระดับสูง (Executive) และ 4) สตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งผู้ที่มีสิทธิจะได้รับวีซ่าประเภทนี้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษตามหลักเกณฑ์และผ่านการรับรองของหน่วยงานภาครัฐที่กำหนด เช่น การรับรองความเชี่ยวชาญของคนต่างชาติ การรับรองว่าเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ การรับรองการเข้าร่วมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นต้น โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองคุณสมบัติเหล่านี้ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 299,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2560 มีมูลค่า 392,000 ล้านบาท และในปีนี้ 2561 บีโอไอตั้งเป้าว่าจะมีการลงทุนของกลุ่มเป้าหมายกว่า 400,000 ล้านบาท" นางสาวดวงใจกล่าว
ทั้งนี้ สมาร์ทวีซ่าจะเป็นทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยผู้ถือสมาร์ทวีซ่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ เช่น สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้สูงสุดคราวละไม่เกิน 4 ปี ได้รับขยายเวลารายงานตัวจากทุก 90 วัน เป็นทุก 1 ปี สามารถเข้าออกประเทศไทยได้โดยไม่ต้องทำ Re-entry permit และสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาต ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้ได้รับสิทธิ สมาร์ทวีซ่า ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยเช่นกัน
สมาร์ทวีซ่า ช่วยเสริมทักษะ – ถ่ายทอดความรู้แก่คนไทย
นางสาวดวงใจ กล่าวด้วยว่า บุคลากรทักษะสูงที่จะได้รับสมาร์ทวีซ่านั้น ต้องเป็นตำแหน่งระดับสูงหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยเสริมบุคลากรไทยที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลน จึงนับเป็นการขยายโอกาสที่จะให้มีการเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆจากต่างประเทศ สมาร์ทวีซ่าจึงเป็นทั้งการอำนวยความสะดวกและการยกระดับบุคลากรของไทยไปพร้อมๆ กัน
สอบถามข้อมูลและขอรับบริการได้ที่ หน่วย SMART Visa ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 โทรศัพท์ 0 2209 1100 ต่อ 1109 – 1110 หรืออีเมล smartvisa@boi.go.th