กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จัดหลักสูตรอบรมโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรหนุนตัวแทนองค์กรเกษตรกรพัฒนาทักษะการเรียนรู้ สร้างพลังร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และมูลนิธิสัมมาชีพ (มสช.) ร่วมจัดทำหลักสูตรอบรมโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรเพื่อให้ผู้ที่เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการจัดการวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ การวางแผนการผลิต แผนธุรกิจ โดยนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกในองค์กรและชุมชนได้ เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูฯ
ที่มาของการจัดอบรมในครั้งนี้ เกิดจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กฟก. กับ มสช. ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาส่งเสริมการฝึกอบรมทางด้านวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และพนักงานของกองทุนฟื้นฟูฯ สร้างโอกาสการเรียนรู้การจัดการวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ การวางแผนการผลิต แผนธุรกิจ แผนการตลาด และมาตรฐานการผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจรและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
วัฒถุประสงค์หลักนั้น ต้องการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและเศรษฐกิจในยุคสมัยปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบธรรมดา ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming เกิดความสมดุลในการผลิต การซื้อขาย การแปรรูปตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านการจัดการวิสาหกิจชุมชน และให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์การอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมผู้นำหรือตัวแทนองค์กร 77 จังหวัด จำนวน 14 รุ่น รวม 2,700 คนโดยจัดอบรมในพื้นที่ภาคกลาง 3 ครั้ง ภาคเหนือ 5 ครั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ครั้ง และภาคใต้ 2 ครั้ง ซึ่ง กฟก.มีความคาดหวังว่าผู้ที่อบรมไปแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดความรู้ด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ พัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิกสามารถเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ยืนหยัดได้บนลำแข้งของตนเอง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเลี้ยงดูครอบครัว สมาชิกภายในองค์กรได้ นายสมยศกล่าว.