กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ไทยพร้อมรับมือสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ในปี 63 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเนื้อโคด้าน สศก. โดยกองทุน FTA พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโคเนื้อได้รับการอนุมัติจากกองทุนแล้ว 6 โครงการแนะพัฒนาคุณภาพขยายตลาดผู้บริโภคให้สินค้าของไทยมีการแข่งขันได้ในตลาดโลก
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อีกประมาณ 2 ปี ไทยจะสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards: SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากออสเตรเลียจำนวน 17 รายการจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าอีกต่อไปเช่น เนื้อโคและเครื่องใน เนื้อหมูและเครื่องใน นมและผลิตภัณฑ์นม เนย เนยแข็ง
ภาพรวมสถานการณ์ สินค้า SSGภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ผ่านมา ไทยมีสินค้า SSG จำนวน 23 รายการ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1) กลุ่มที่สิ้นสุดมาตรการไปแล้วตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 6 รายการ ได้แก่ นมและครีมข้นไม่หวาน บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้ง ส้ม องุ่น และมันฝรั่งปรุงแต่งแช่เย็นแช่แข็ง2) กลุ่มที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (เป็น 0% ในปี 2564) จำนวน 17 รายการเช่น สินค้าเนื้อวัวและเครื่องใน สินค้าเนื้อหมูและเครื่องในกลุ่มผลิตภัณฑ์นม เนย เนยแข็ง
สำหรับสินค้าเนื้อโคเป็นสินค้าที่ตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูงและมีการขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะเนื้อโคคุณภาพ โดยในช่วงปี 2556-2560 การบริโภคเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.80 ต่อปีประกอบกับผลผลิตภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งในปี 2559 ไทยนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียปริมาณสูงถึง 3,903 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 41.55 ของการนำเข้าเนื้อโคทั้งหมดของไทยซึ่งมีปริมาณ 9,392 ตัน เนื่องจากเนื้อโคเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกของออสเตรเลียและหากสิ้นสุดมาตรการ SSG แล้ว คาดว่าจะส่งผลให้มีการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกลง
ด้านนายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า หากมองถึงสินค้ากลุ่มที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียเป็นหลัก และพบว่ามีปริมาณการนำเข้าสูงกว่าปริมาณที่ไทยเปิดตลาดไว้ ได้แก่
1) สินค้าเนื้อโค สดหรือแช่เย็น ซึ่งไทยเปิดตลาดภายใต้ความตกลง TAFTA (มีอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 10.67 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 51) โดยในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยมีปริมาณนำเข้าจากโลก 10,008.69 ตัน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอาร์เจนตินา ในขณะที่ออสเตรเลีย (ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณส่งออกไปโลก0.78 ล้านตันโดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (27%) สหรัฐอเมริกา (23%) เกาหลีใต้ (15%) ไทย (0.3%) จะเห็นได้ว่าไทยไม่ใช่ตลาดหลักในการส่งออกของออสเตรเลีย ด้านราคาพบว่า สินค้าเนื้อโคของออสเตรเลียมีราคาสูงกว่าไทยค่อนข้างมากโดยราคาเนื้อโคออสเตรเลียอยู่ที่ 271.73 บาท/กิโลกรัมแต่ราคาเนื้อโคไทยอยู่ที่ 96 บาท/กิโลกรัม
2) สินค้าเครื่องในโค สดหรือแช่เย็น ไทยเปิดตลาดภายใต้ความตกลง TAFTA (มีอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 8 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 33) ในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยมีปริมาณนำเข้าจากโลก 16,996.27 ตัน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อาร์เจนตินา (40.76%) ออสเตรเลีย (21.10%) และนิวซีแลนด์ (13.16%) ในขณะที่ออสเตรเลียมีปริมาณส่งออกไปโลก 0.11 ล้านตัน โดยส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย (20%) ญี่ปุ่น (13%) เกาหลีใต้ (12%) ไทย (3%)
สำหรับการพัฒนาคุณภาพโคเนื้อเพื่อผลิตเนื้อโคคุณภาพตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าเนื้อโคคุณภาพสูง (Premium)ภายในประเทศไทยได้มีการผลิตสินค้าเนื้อโคคุณภาพสูงและเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคโดยทั่วไป เช่น สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัดได้มีการนำโคเนื้อสายพันธุ์ บราห์มัน โคพันธุ์พื้นเมือง และโคพันธุ์ชาโรเลส์มาปรับปรุงสายพันธุ์ กระทั่งได้โคลูกผสมพันธุ์กำแพงแสน หรือที่รู้จักกันในนาม "โคเนื้อกำแพงแสน" ที่สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศไทย และได้นำมาส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ พร้อมส่งแปรรูปภายใต้แบรนด์ KU Beef จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้ร่วมกับ มกอช. และกรมปศุสัตว์ ในการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมทั้งได้เชื่อมโยงการตลาดผ่านเครือข่ายสหกรณ์ในการเป็นศูนย์กลางการรวบรวมและส่งจำหน่าย นอกจากนี้ สหกรณ์ยังส่งเนื้อโคไปจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และแผงค้าเนื้อต่าง ๆรวมทั้ง ร้าน Ku Beef Butcher ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยปัจจุบันสหกรณ์มีกำลังการผลิตอยู่ที่1,500 ตัวต่อปีขณะที่ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัดนับเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อโคคุณภาพที่รู้จักกันในนาม"เนื้อโคขุนโพนยางคำ"ที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย ทัดเทียมกับเนื้อโคที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่เชื่อถือได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเปิดตลาดสินค้าเกษตร สศก. จะดำเนินการจัดประชุมเพื่อเตรียมการเปิดตลาดสินค้าตามพันธกรณีความตกลง TAFTAในสินค้าSSG ที่จะสิ้นสุดมาตรการในกลุ่มที่ 2 ประมาณเดือนมีนาคม 2561 ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สหกรณ์เครือข่าย โคเนื้อ จำกัด สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด และสหกรณ์การเลี้ยง ปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจสำหรับสินค้าโคเนื้อตั้งแต่ปี 2550จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 154.75 ล้านบาท อาทิ โครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูง โครงการเพิ่มมูลค่าเนื้อโคขุนเกรดคุณภาพ (Premium) เพื่อรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งผลจากการดำเนินการตามโครงการต่าง ได้ช่วยให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อและเนื้อโคเพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2556-2560 ไทยสามารถผลิตเนื้อโคได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.78 ต่อปีขณะที่สัดส่วนผลผลิตภายในประเทศต่อความต้องการบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.88 ในปี 2556 มาเป็นร้อยละ 76.4 ในปี 2560
เกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีดังกล่าว สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยกเลิก SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ในปี 2563 ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนบริหารกองทุนภาคเกษตร โทรศัพท์ 0 2561 4727 หรือโทรสาร 0 2561 4726 และ www2.oae.go.th/FTA หรือ E-mail : fta@oae.go.th