กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กรมประมง
ปูทะเล นับเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนให้ความนิยมในการบริโภค เพราะมีรสชาติที่อร่อย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยปูทะเลในสกุล Scylla ที่พบในน่านน้ำไทยมี 4 ชนิด คือ ปูดำหรือปูแดง (Scylla olivacea) ปูเขียวหรือปูทองโหลง (Scylla serrata) ปูม่วง (Scylla tranquebarica) และ ปูขาวหรือปูทองหลาง (Scylla paramamosain) แต่ปัจจุบันพบว่าปริมาณปูทะเลในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จำเป็นต้องเร่งหาแนวทางการเพิ่มปริมาณปูทะเลให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายที่จะเร่งศึกษาค้นคว้าวิจัยในการผลิตลูกพันธุ์ปูทะเล เพื่อเพิ่มปริมาณในธรรมชาติ ให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ พร้อมส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่ง "ปูขาว" หรือ "ปูทองหลาง" เป็นปูทะเลอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่กรมประมงกำลังผลักดันให้มีการศึกษา วิจัย การเพาะขยายพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง ได้มีการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับปูชนิดนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกรได้มีความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพ เช่น การเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรปูทะเล เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรและนักศึกษาในด้านเทคนิคการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้มีอัตราการรอดสูง เป็นต้น
นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เปิดเผยว่า ปูขาวหรือ ปูทองหลาง (Scylla paramamosain) มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงในบ่อดิน มีการเจริญเติบโตเร็ว ขนาดตัวใหญ่ ส่วนในด้านการผลิตลูกพันธุ์ปูขาวให้ได้ปริมาณมากนั้น ต้องใช้แม่พันธุ์ปูไข่นอกกระดองที่มีคุณภาพ ซึ่งโดยธรรมชาติการผสมพันธุ์ของปูเกิดขึ้นหลังจากตัวเมียลอกคราบใหม่ๆ ตัวผู้จะเข้าผสมพันธุ์และปล่อยถุงน้ำเชื้อ (Spermatophorn) ไปเก็บไว้ใน Receptacle ของปูตัวเมีย เมื่อไข่พัฒนาเต็มที่ ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อ แล้วนำไข่มาเก็บบริเวณจับปิ้ง เรียกว่า "ปูไข่นอกกระดอง" โดยไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนและฟักเป็นลูกปูระยะซูเอี้ย ซึ่งปริมาณความแข็งแรงของลูกปูแรกฟักขึ้นอยู่กับอายุ ความสมบูรณ์แข็งแรง ขนาดของพ่อแม่พันธุ์ สภาพแวดล้อม และที่สำคัญคืออาหารที่พ่อแม่พันธุ์ได้รับ การจัดการอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ปู นับเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดการด้านสภาพแวดล้อม และเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์
ทางศูนย์ฯ ได้ศึกษา ค้นคว้า สูตรอาหารสำหรับนำมาเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปูขาว เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์เพศ พบว่า พ่อแม่พันธุ์ปูขาวที่เลี้ยงด้วยอาหารทดลอง ที่มีส่วนผสมของอาหารสด 60 เปอร์เซ็นต์ คือ หอยแครง 7.5 เปอร์เซ็นต์ เพียงทราย 30 เปอร์เซ็นต์ หมึก 7.5เปอร์เซ็นต์ และเนื้อกุ้ง 15 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับ 40 เปอร์เซ็นต์ ของส่วนผสมอื่นที่ประกอบด้วย อาหารผงสำเร็จรูป 36 เปอร์เซ็นต์ สไปรูลิน่า 2 เปอร์เซ็นต์ วิตามินซี 1 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมันปลา 1 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้พ่อแม่พันธุ์ปูขาวมีความสมบูรณ์เพศ โดยพบว่า แม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปูขาวที่เลี้ยงด้วยอาหารสูตรดังกล่าว มีการปล่อยไข่ออกนอกกระดองมากขึ้น ดัชนีความสมบูรณ์เพศ และคุณภาพของน้ำเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากอาหารสูตรดังกล่าว มีองค์ประกอบของกรดไขมัน (ARA, EPA, DHA) และโปรตีนในปริมาณมาก ช่วยให้แม่พันธุ์ปูขาวนำไปใช้ในการพัฒนาไข่ให้สมบูรณ์ ที่สำคัญคือมีฮอร์โมนหลายชนิดจากเพรียงทราย และหมึก ช่วยกระตุ้นการเจริญของรังไข่ พัฒนาเซลล์ไข่ให้กลายเป็นไข่แก่พร้อมปล่อยไข่ออกนอกกระดอง ช่วยให้พ่อพันธุ์ปูขาวมีน้ำเชื้อสมบูรณ์ คุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีสารสีจากเนื้อกุ้ง ช่วยลดความผิดปกติและป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์สเปิร์มอีกด้วย
อธิบดีกรมประมงกล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาเทคนิคในการอนุบาลลูกพันธุ์ปูขาวและการเพาะเลี้ยง ปูขาวให้มีอัตราการเจริญเติบโตและรอดตายสูงนั้น ถือเป็นภารกิจหลักของกรมประมงในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นการเร่งผลักดันปูขาวให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านให้ช่วยดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและอาชีพประมง
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง โทร.075-274-077