กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลังจากที่สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการประกวด MOST's Innovation OTOP Award ขึ้นในปี 2560 ได้มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการประกวด MOST's Innovation OTOP Award มากกว่า 400 ราย และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีแนวคิดนำนวัตกรรม ทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าเข้าร่วมโครงการ 80 ราย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร 2.กลุ่มเครื่องดื่ม 3.กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 4.กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย 5.กลุ่มของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก และ 6.กลุ่มธุรกิจรูปแบบใหม่
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ร่วมพัฒนาสินค้ากับทีมนักวิจัยระดับประเทศจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) ซึ่งทางสจล. ได้นำนักวิจัยกว่า 20 ท่าน จากหลายสาขาอาทิ นาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม รวมถึงด้านการตลาด การจัดการ เข้าร่วมพัฒนาสินค้ากับผู้ประกอบการ ใช้เวลากว่า 5 เดือน ด้วยวิธีการวินิจฉัยสถานประกอบการ และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก จากการที่ทางนักวิจัยของสจล. ได้ทำงานกับผู้ประกอบการโอทอปนั้น พบว่าผู้ประกอบการโอทอป มีความตั้งใจ และมีทักษะความชำนาญในการที่นำอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สะท้อนความเป็นไทยและมีกลิ่นอายชุมชนเข้ามาผนวกรวมกับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี และทางสจล. ได้ให้คำแนะนำในการเพิ่มนวัตกรรมลงไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงด้านการตลาด การจัดการ เพื่อให้ผู้ประกอบการโอทอป สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้
ในโครงการนี้ทางสจล. ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการโอทอปหลายราย อาทิสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพารา จังหวัด กำแพงเพชร ซึ่งเป็นสินค้าที่นอนยางพารา และทางสจล. ได้พัฒนาที่นอนยางพาราป้องกันแผลกดทับ สำหรับผู้ป่วย และพร้อมที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการในรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศ
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการประกวด Most's Innovation Otop Award ในครั้งนี้ว่า "การจัดงานในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการประกวดในโครงการนี้ ได้ตอบโจทย์ต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด การทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การตลาดยุคปัจจุบัน แผนธุรกิจที่จะบ่มเพาะผู้ประกอบการฯ ให้พร้อมก้าวไปสู่โลกธุรกิจ"
นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านการค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้าระดับโลกซึ่งมีประสบการณ์อันยาวนานถึง ๕๘ ปี บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้ตอบแทนให้กับสังคม ภายใต้แนวคิด "คิดต่าง สร้างคุณค่า" เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสให้คนไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมยกระดับขีดความสามารถและเผยแพร่ชื่อเสียงผลงานของคนไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล สามารถสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยและประเทศชาติ หลังจากที่บริษัทฯ ได้เป็นหนึ่งใน ๓๕ องค์กร ที่ลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือ "ประชารัฐ ร่วมใจ ยกระดับโอทอป ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม" นอกจากนี้ทาง บริษัท สยามพิววรรธน์ จำกัด ยังให้ความรู้ทางการตลาดและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสนับสนุนสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมเผยแพร่ จัดแสดงสินค้า ณ ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ให้การสนับสนุนของรางวัลสำหรับผู้ชนะประกวด MOST's Innovation OTOP Award 2017 และผลักดันให้ผลงานของผู้ประกอบการมีช่องทางจำหน่ายในตลาด โดยผลงานที่โดดเด่นจะได้รับโอกาสการทดลองวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์ ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการตามนโยบายที่บริษัทฯ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการณ์ไทยที่มีความสามารถมาโดยตลอด
การประกวด Most's Innovation Award 2017 ได้แบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับรางวัลออกเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้และเครื่องประดับ บริการและธุรกิจรูปแบบใหม่ ในแต่ละผลิตภัณฑ์ จะแบ่งออกเป็นรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ นอกจากนั้นผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด รางวัลละ 20,000 บาท สำหรับผู้ชนะเลิศ และรางวัลละ 10,000 สำหรับรองชนะเลิศ ด้านเกณฑ์การตัดสินได้ยึดหลักความใหม่ในตลาด ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการผลิต การนำนวัตกรรมมาใช้ผลิต ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ เป็นสำคัญ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า "จากการดำเนินโครงการซึ่งมีการวิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ในเชิงลึก ทางโครงการ ฯ หวังว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการ Most's Innovation Otop Award 2018 จะนำแนวความคิด การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปต่อยอดพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ต่อไป รวมถึงการช่วยขยายและถ่ายทอดแนวความคิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาสินค้าอย่างยั่งยืนไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเครือข่าย เพื่อช่วยกันยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยให้โดดเด่น สะท้อนความเป็นไทยมีอัตลักษณ์และเรื่องราว โดยเพื่อส่งสินค้าชุมชนไทยสู่สากล"