กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส.อ.ท. จับมือ อบก. และองค์กรชั้นนำเปิดตัวโครงการและอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรใน ภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 7" พร้อมเปิดตัว 31 องค์กรนำร่อง มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดตัวโครงการและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พร้อมทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 7" ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2561 ณ ห้องปาริชาต โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 กรุงเทพฯ เพื่อขยายผลให้มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม และวิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร (Hot Spot) และหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งจัดให้มีการทวนสอบและรับรองผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบทวนสอบ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง 31 แห่ง
ประเด็นปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนั้น ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากทำการพิจารณาแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงลึกเพื่อขับเคลื่อนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ภาครัฐกำหนดไว้นั้น พบว่า มีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ กรอบแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำ "แผนที่นำทางของประทศไทยเพื่อบรรลุข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี พ.ศ 2563 (Intended Nationally Determined Contribution: INDC)" กำหนดมาตรการและเป้าหมายลดก๊าซเรือนของประเทศที่มีภาคอุตสาหกรรมเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญ อาทิ มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า มาตรการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เป็นต้น
นายไพรัตน์ ตังคเศรณี รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันสิ่งแวดล้อม-อุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยทำการผลักดันนโยบายให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงานโครงการฯ ตามมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่ภาครัฐกำหนด เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปประยุกต์ให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
อีกหนึ่งการดำเนินงานที่สำคัญยิ่งที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาโลก-ร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนคือ โครงการส่งเสริมให้มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกที่เป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตนเอง ทำให้ทราบถึงแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ สามารถวิเคราะห์หาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมนำไปสู่การจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งในปี 2561 นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินงานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ผ่านโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 7 ซึ่งในปีนี้มีโรงงานนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 31 แห่ง มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ในนามของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผมขอขอบคุณองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และเทคนิควิชาการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศไทยที่มีการกำหนดไว้ ท้ายสุดนี้ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิดตัวโครงการ และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมทั้งการอบรม เชิงปฏิบัติการในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินโครงการครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ" นายไพรัตน์ กล่าว
ด้านนางสาวพงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า "ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการสะสมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากกิจกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ไม่ว่าจะการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในปริมาณที่มากขึ้น การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และการขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินนี้จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมายต่อทุกประเทศบนโลก อาทิ ทำให้เกิดการละลายอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีช่วงฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลง ภาวะแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกชุกเพิ่มขึ้น สภาวะอากาศแปรปรวนและสภาพอากาศรุนแรง เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่แปรปรวนก่อให้เกิดอุทกภัย หรือภัยแล้งที่รุนแรง เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น โดยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
จากปัญหาดังกล่าว ทั่วโลกจึงหันมาร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะทำการจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) เพื่อใช้เป็นเวทีในการเจรจา กำหนดข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยล่าสุดได้มีการจัดประชุมฯ เป็นสมัยที่ 23 (COP 23) ขึ้นที่เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 6-17 พฤศจิกายน 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาท่าที จัดทำกฎ ระเบียบ กติกา และกรอบการดำเนินงานใหม่ ๆ รวมทั้งหารือความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งการประชุมครั้งนี้เน้นหารือแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดการบังคับใช้ความตกลงปารีส ก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2563 เพื่อผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก และรักษาอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
สำหรับประเทศไทยนั้น เนื่องจากเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) จึงไม่มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าที่อนุสัญญา UNFCCC ได้กำหนดไว้ จึงได้มีการแสดงเจตจำนงในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs) โดยตั้งเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง ให้ต่ำกว่าระดับการปล่อย ในการดำเนินงานตามปกติภายในปี 2563 และหลังจากนั้นจะทำการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนร้อยละ 20-25 ภายในปี 2563" นางสาวพงษ์วิภา กล่าว