กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนหน่วยงานในสังกัดผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิทัล พัฒนาการเข้าถึงบริการ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารภาครัฐสู่ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน โดย ETDA พัฒนาแอปฯ 1212 OCC ศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ด้าน EGA จับมือกระทรวงสาธารณสุข สร้าง "RDU รู้เรื่องยา" ตอบโจทย์เรื่องยาอย่างครอบคลุม ฝั่งกรมอุตุฯ เปิดตัว "TMD Smart Simulation" ศูนย์ข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเรียลไทม์ ส่วน สสช. ผุด "ThaiStat" เผยแพร่ข้อมูลสถิติ ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกรวมไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน (Smartphone) ได้เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แอปพลิเคชั่น (Application) กลายเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรทุกหน่วยงานพยายามพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงพยายามพัฒนารูปแบบการสื่อสารกับประชาชนผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐที่ง่ายขึ้น สอดรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" โดยสนับสนุนหน่วยงานในสังกัด จัดทำแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และรับทราบข่าวสารความเคลื่อนไหวของภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ดำเนินการพัฒนาศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ "1212 Online Complaint Center" หรือ สายด่วน 1212 และแอปพลิเคชัน 1212 OCC ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นหนึ่งในโครงการ "SMEs go online ซื้อขายมั่นใจ มีปัญหาเมื่อไร เราดูแล" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) พัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน โดยการบันทึกข้อมูลยาที่คนไข้ได้รับจากสถานพยาบาลเก็บไว้ใน แอปพลิเคชัน "RDU รู้เรื่องยา" ได้แก่ ชื่อโรงพยาบาลที่ได้รับยา ชื่อยา และข้อมูลฉลากเสริม เป็นต้น อีกทั้งได้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยา เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้ รวมถึงใช้ในการค้นหาโรงพยาบาล และร้านยาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลยาได้อย่างทั่วถึงและมีการใช้ยาอย่าง สมเหตุผล ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดทำข้อมูลและความรู้ด้านยาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แอปพลิเคชัน "RDU รู้เรื่องยา" จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาล ส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม ทำให้มีข้อมูลยาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และเกิดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อมูลยา ลดความซ้ำซ้อน และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันจากหน่วยงานภาครัฐที่นำร่องด้าน Health Tech ของเมืองไทย โดยได้ออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านสาธารณสุข จนสามารถสร้างระบบบริหารจัดการเนื้อหา (Content Management System) ให้สามารถรองรับบริการผ่านสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พัฒนาแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ ชื่อว่า "TMD Smart Simulation" หรือ "TMD SMART SIM" โดยเป็นผลผลิตจากโครงการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (HPC) สามารถดาวน์โหลดการใช้งานได้ทั้งระบบ Android ที่ Google Play และ ระบบ IOS ที่ App Store โดยความสามารถของแอปพลิเคชั่นนี้ คือ แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศ จากตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้แอปพลิเคชัน ค้นหาข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบละเอียดได้ในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล ค้นหาข้อมูลปฏิทินพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ 126 วัน รายละเอียด 27 กิโลเมตร แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบรายชั่วโมง และรายวัน แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศในรูปแบบแผนภูมิ แผนที่ แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศตามภูมิภาค บันทึกสถานที่ที่ต้องการทราบข้อมูลพยากรณ์อากาศภายในแอปพลิเคชั่น และระบบแจ้งเตือนสภาพอากาศ ซึ่งมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการอัพเดตข้อมูลสภาวะอากาศ โดยข้อมูลการพยากรณ์อากาศเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-Time) จากผลการตรวจอากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 126 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว เกษตรกรรม ประมง และข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ก็ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชันจากระบบคลังข้อมูลสถิติ มีชื่อเรียกว่า "ThaiStat" เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดที่สำคัญของประเทศ และของจังหวัดต่างๆ ในรูปแบบที่ "เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย และเข้าใจง่าย" มีการนำเสนอข้อมูลสถิติในรูปแบบที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ และมีความหลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถิติ สามารถเข้าใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นตอนนี้ เป็นการพัฒนาบนระบบปฏิบัติการ Android ผ่าน Play Store โดยในอนาคตจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชันบนระบบ IOS เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ IOS ต่อไป