TMC ตอบรับผลประเมินคุณภาพผลงานวิจัยด้าน ว และ ท ของ สกว. เน้นจัดสรรเด็กเก่งในโครงการ สู่สถาบันคณะวิชาที่มีสัดส่วนการวิจัยระดับสูง

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 8, 2007 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตอบรับผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการผลักดันและสานต่อโครงการสร้างปัญญาวิทย์ผลิตนักเทคโน (YSTP: Young Scientist and Technologist Program) และโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย (TGIST: Thailand Graduate Institute of Science and Technology) ให้เยาวชนคนเก่งเข้าสู่สถาบันหรือคณะวิชาที่มีศักยภาพงานวิจัยในระดับสูง เน้นต่อยอดเยาวชนให้เข้มแข็งด้านวิจัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อกก.) กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ว่า “โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยได้เชิญหน่วยงานที่เคยรับทุนหรืออยู่ระหว่างกำลังรับทุน สกว. เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทำเป็นโครงการทดลอง (Pilot Project) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 — 15 พฤษภาคม 2550 โดยใช้เกณฑ์ในเรื่องของการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติเป็นเกณฑ์สำคัญในการวัดคุณภาพผลงานทางวิชาการ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะชี้ให้เห็นถึงระดับความเข้มแข็งในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแต่ละคณะวิชาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย อันจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนสนับสนุนการวิจัยของ สกว. ให้เหมาะสมกับความถนัดของหน่วยงาน ตลอดจนหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำผลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการวิจัยของตนเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศในด้านที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้ สาธารณชนโดยเฉพาะผู้ปกครองและนักศึกษายังได้รับประโยชน์ในแง่การเลือกเข้าเรียนในสถาบันหรือคณะสาขาวิชาที่มีศักยภาพตรงตามที่ตัวผู้เรียนต้องการได้เหมาะสมยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ โครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการดังกล่าว เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) และคณะอนุกรรมการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อกก.)โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน รวมทั้งผู้แทนจาก สวทช. ด้วย ซึ่งได้ทำการประเมินคุณภาพการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาโดยเน้น “คณะวิชา” โดยผลการประเมินโครงการจะเป็นการประเมินแบบอิงกลุ่ม ซึ่งแต่ละคณะวิชาจะได้ผลการประเมินแบบ Rating ซึ่งมี 5 ระดับ คือ 5 (ดีมาก) 4 (ดี) 3 (ปานกลาง) 2 (ควรปรับปรุง) และ 1 (ต้องปรับปรุงโดยด่วน) โดยคณะวิชาที่ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับคุณภาพหรือ เรตติ้งระดับ 5 สามารถแบ่งออกเป็น 7 สาขา ซึ่งขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
- สาขาวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาวิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขาเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง/ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- สาขาเทคโนโลยี/พลังงาน/วิทยาการสารสนเทศ อาทิ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาแพทยศาสตร์/เวชศาสตร์เขตร้อน อาทิ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาเภสัชศาสตร์ อาทิ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ศ.ดร.ปรีชา วิบูลย์สวัสดิ์ เปิดเผยอีกว่า “ก้าวต่อไปของการประเมินจะมุ่งไปในสาขาสังคมศาสตร์หรือ Social Science ในปีงบประมาณ 2551 (ต.ค. 50 — ก.ย. 51) และจะทำการประเมินระดับเชิงลึกถึง ภาควิชา (Major) ของสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปีงบประมาณ 2552 (ต.ค. 51 — ก.ย. 52) ต่อไป”
อนึ่ง จากการจัดลำดับความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกจาก 180 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 55 ของโลก ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มระดับบน 1 ใน 3 ของโลก และตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีเจตนารมณ์ในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปอยู่ในอันดับกึ่งกลางในระดับบน กล่าวคือ ประมาณอันดับที่ 30 ซึ่งการจะก้าวไป ณ จุดนั้นได้ ประเทศไทยต้องมีการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของฐานความรู้เป็นหลัก โดยเฉพาะงานวิจัยซึ่งจะนำมาซึ่งการสร้างความรู้และความรู้ดังกล่าวจะสามารถต่อยอดในการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
วีระวุฒิ (ไต๋) งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)
โทรศัพท์ 081-454-5087, 0-2564-7000 ต่อ 1478 หรือ pr@tmc.nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ