กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--ไอบีเอ็ม
นักวิจัยของไอบีเอ็มเปิดตัวต้นแบบซอฟต์แวร์แสดงภาพจำลอง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถโต้ตอบกับข้อมูลทางการแพทย์ได้เหมือนกับที่โต้ตอบกับผู้ป่วย โดยอาศัยการตรวจดูร่างกายของผู้ป่วย
เทคโนโลยีซึ่งพัฒนาขึ้นที่ห้องปฏิบัติการวิจัยซูริกอันเลื่องชื่อของไอบีเอ็มนี้ ใช้ภาพ 3 มิติแสดงแทนร่างกายมนุษย์ เพื่อให้แพทย์สามารถดูข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เทคโนโลยีนี้เรียกว่า Anatomic and Symbolic Mapper Engine (ASME) เป็นนวัตกรรมด้านการแสดงผลภาพรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้แพทย์สามารถคลิกเมาส์คอมพิวเตอร์บนอวัยวะของ “ร่างกายมนุษย์” เพื่อดำเนินการสืบค้นข้อมูลประวัติทางการแพทย์เมื่อต้องการเรียกดูข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
“ซอฟต์แวร์นี้เสมือนเป็น Google Earth สำหรับร่างกายคนเรา” อองเดร เอลิสซีฟ นักวิจัยของไอบีเอ็ม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงการด้านสุขภาพที่ห้องปฏิบัติการวิจัยซูริกของไอบีเอ็ม กล่าว “ด้วยความหวังว่าเราจะสามารถเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลประวัติการดูแลสุขภาพในแบบอิเล็กทรอนิกส์ เราได้พยายามที่จะทำให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ง่ายขึ้น ด้วยการผสมผสานข้อมูลทางการแพทย์กับการนำเสนอข้อมูลเป็นภาพ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถสื่อสารกับข้อมูลเหล่านั้นอย่างง่ายดายที่สุดเท่าที่เป็นได้ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยอีกด้วย”
ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์และบ่นว่ามีอาการปวดหลัง แพทย์จะสอบถามประวัติการรักษาเดิมเท่าที่ผู้ป่วยสามารถจดจำได้ ทำการทดสอบ วิเคราะห์วินิจฉัยอาการด้วยการดูและตรวจร่างกายผู้ป่วย หลังจากนั้น แพทย์จะต้องสืบค้นข้อมูลประวัติการรักษาเดิมจากกองเอกสารจำนวนมาก และโดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักไม่พบข้อมูลประวัติการรักษาเดิมได้อย่างครบถ้วนทั้งหมดและไม่สามารถรับทราบถึงอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้น
ด้วยซอฟต์แวร์ภาพจำลอง 3 มิติ ASME แพทย์จะสามารถ “คลิก” ภาพ 3 มิติที่แสดงแทนร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของซอฟต์แวร์นี้ และสามารถดูข้อมูลประวัติการรักษาทั้งหมดที่มีอยู่ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังของผู้ป่วยได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นข้อความ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ หรือภาพจากการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือหากแพทย์สนใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเฉพาะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ในกรณีนี้ แพทย์สามารถขยายภาพ จำกัดขอบเขตการสืบค้นข้อมูลโดยกำหนดเวลาหรือปัจจัยอื่นๆ
การใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลชั้นสูง (Advanced Machine Learning) และการสร้างโมเดล 3 มิติที่เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ช่วยให้นักวิจัยของไอบีเอ็มสามารถจัดการกับความท้าทายเชิงเทคนิคที่สำคัญบางอย่าง นั่นคือ การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ กันและข้อมูลแบบข้อความที่ซับซ้อน หรือที่เรียกว่าข้อมูลที่ไม่มีการจัดโครงสร้าง (Unstructured Data) และการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นเข้ากับโมเดลเชิงกายวิภาคในรูปแบบที่สื่อความหมายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ ASME ยังใช้ SNOMED ซึ่งเป็นระบบกำหนดชื่อทางการแพทย์ที่ประกอบด้วยคำศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ประมาณ 300,000 คำ เพื่อเชื่อมโยงส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเอกสารข้อความเข้าด้วยกัน
ASME เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็ม เดนมาร์ก และฝ่ายวิจัยของไอบีเอ็ม โดยการนำพนักงานขายและหน่วยงานวิจัยมาทำงานร่วมกัน ก่อเกิดทีมงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น ซึ่งมีความเข้าใจอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งมีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคในระดับแถวหน้า
ความจำเป็นของข้อมูลประวัติสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์
ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ มากมายในธุรกิจการดูแลรักษาสุขภาพ แต่ข้อมูลประวัติสุขภาพในทุกวันนี้ยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ไม่เต็มที่ ข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มักเป็นการจดบันทึกข้อมูลที่ไม่มีการจัดโครงสร้างลงในกระดาษ หรืออาจเป็นข้อมูลตัวอักษรที่เป็นโครงสร้างแต่จัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลต่างๆ กัน ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ข้อมูลเหล่านั้นล้วนเป็นข้อมูลที่แยกย่อยและไม่ปะติดปะต่อกันเกี่ยวกับการวินิจฉัยและโรคต่างๆ การเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากมากทีเดียว
ขณะนี้ การสร้างระบบข้อมูลประวัติสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (eHR) ที่ทำงานได้ครอบคลุมยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น และยังเหลือหนทางอีกยาวไกลจึงจะประสบความสำเร็จ ระบบนี้จะทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล คลินิก และผู้ให้บริการรายอื่นๆ โดยยังคงปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยแต่ละคน ปัจจุบัน ในการบันทึกข้อมูล eHR บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่นิยมใช้การจดบันทึกข้อมูลลงบนกระดาษหรือใช้ระบบของตัวเองมากกว่า แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีระบบที่สามารถรวบรวมข้อมูลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาไว้ด้วยกัน เพื่อแสดงภาพรวมเกี่ยวกับสุขภาพผู้ป่วยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแบบเรียลไทม์? และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าระบบนั้นให้การนำเสนอข้อมูลนี้ในรูปแบบที่ใช้งานง่ายและสะดวกรวดเร็ว? นักวิจัยของไอบีเอ็มจึงสามารถนำเสนอระบบที่กล่าวมานี้ได้ ซึ่งก็คือระบบ ASME ที่ช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาข้อมูลในแผนที่เสมือนจริงที่จำลองร่างกายของมนุษย์ และเป็นแนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างแท้จริง
ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของระบบไอทีด้านการดูแลสุขภาพก่อนหน้านี้ของไอบีเอ็ม ซอฟต์แวร์ ASME จึงเป็นศูนย์ข้อมูลทางการแพทย์ที่ผสมผสานข้อมูลเชิงความหมายจากระบบ Health Information Exchange (HIE) ของไอบีเอ็ม กับโมเดลเสมือนจริงที่จำลองภาพร่างกายมนุษย์ ต่อไปภายหน้า นักวิจัยจะค้นหาวิธีผนวกรวมเทคโนโลยีเสียงพูดเข้าไปใช้กับ ASME นี้
ชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ แผนกประชาสัมพันธ์ โทร. 02 2734306 email: chujit@th.ibm.com