กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. เดินหน้าเต็มสูบ พัฒนาทักษะแรงงานทั่วประเทศ รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เตรียมเสนออีก 16 สาขา
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากมติการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ ประชุมเพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศตั้งแต่ 5-22 บาท อัตราต่ำสุด 308 บาท ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) อัตราสูงสุด 330 บาท 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ส่งผลให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมกับหาวิธีลดต้นทุนในส่วนอื่นหรือต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มากขึ้น ในส่วนของกพร. จึงดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยนำมาตรฐานฝีมือแรงงานและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มาเป็นกลไกขับเคลื่อน เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีพนักงานที่มีศักยภาพ เพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเดิมและมีคุณภาพ
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ในการสนับสนุนและส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ด้านหนึ่งคือ โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดย กพร. จัดให้ที่ปรึกษาเข้าไปแนะนำและปรับปรุงกระบวนการผลิตและลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน โดยมีมาตรการจูงใจด้านภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึกอบรมให้กับพนักงานไปลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 100 โดยในปี 2561 มีเป้าหมายดำเนินการกว่า 3.5 ล้านคน ดำเนินการแล้วกว่า 1.3 ล้านคนและมีโครงการให้กู้ยืมจำนวน 70 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานดังกล่าวด้วย ให้กู้แบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งสิ้นสุด 7 มิถุนายน 2561
นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือและอุดหนุนอีกหลายกรณี อาทิ สถานประกอบกิจการที่มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง แล้วนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ทดสอบฯ พนักงาน กรณีนี้จะได้รับเงินสนับสนุนในสาขาระดับละ 10,000 บาท หากสถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฯ ของตน 1 สาขาแต่มี 3 ระดับ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนไป 30,000 บาท หรือสถานประกอบกิจการที่ส่งพนักงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในทุกสาขา และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ผ่านมาตรฐานฯ ตามอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน กพร.จะจ่ายเงินอุดหนุนให้สถานประกอบกิจการจำนวน 1,000 บาท ต่อพนักงาน 1 คน แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท
"การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเห่งชาติ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ เพราะเป็นการวัดความรู้ ความสามารถ ตามทักษะฝีมือ ผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฯ จะได้รับค่าจ้างตามมาตราฐานฝีมือ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 67 สาขา และอยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการค่าจ้างอีก 16 สาขา" อธิบดี กพร.กล่าว