กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ปชส.จร.
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึง ผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ครั้งที่ 11 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ว่า สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว ซึ่งผู้นำทั้ง 11 ประเทศจะแถลงการณ์ถึงความสำเร็จของการเจรจาดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ หลังจากนั้นจะมีการปรับถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ต่อจากนั้นจะเป็นการดำเนินการกระบวนการภายใน เช่นขอความเห็นจากสภาฯ เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
ความตกลง ฯ นี้มีการเจรจารวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง และยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง 4 ปีนับจากมีการลงนามของผู้นำทั้งสองฝ่ายในกรอบการเจรจา โดยให้ญี่ปุ่นไปเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนก่อนแล้วนำมาผนวกเป็นความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงได้นำแนวทางการเจรจาของอาเซียนในกรอบอาเซียน-เกาหลีและอาเซียน-จีนมาใช้
ความตกลงนี้จะครอบคลุมการค้าสินค้าเป็นหลัก ส่วนการค้าบริการและการลงทุนนั้นทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามีในความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่และญี่ปุ่นแล้ว จึงได้มีการตกลงในกรอบกว้างๆ โดยจะยังไม่มีการเปิดเสรี ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันต่อไปในอนาคต
นายวินิจฉัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าเสรีนี้จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 152,203 ล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างเครือข่ายการผลิตขนาดใหญ่ที่มีแหล่งวัตถุดิบร่วมกันอันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายในด้านการค้าและการลงทุน โดยการค้าสินค้าร้อยละ 90 ของมูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นจากอาเซียนจะลดภาษีเป็น 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเพิ่มเติมจากความตกลง JTEPA ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มขึ้น 71 รายการ คิดเป็นมูลค่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า อีกทั้งไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือในสาขาต่างๆ จำนวนไม่ต่ำกว่า 14 สาขา เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พลังงาน สารสนเทศและการสื่อสาร และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น