กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--พีอาร์ บูม
ส.สถาปนิกสยามฯ เตรียมจัดงาน 'Glenn Murcutt : Architecture For Place' งานเอ็กซิบิชั่นระดับโลกนำผลงาน Glenn Murcutt มาจัดแสดง
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมมือกับสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เตรียมจัดนิทรรศการระดับโลก 'Glenn Murcutt : Architecture For Place' 17 กุมภาพันธ์ถึง 8 เมษายน 2561 นับเป็นงานเอ็กซิบิชั่นขนาดใหญ่ครั้งแรกของไทย จัดแสดงผลงานของสถาปนิกชาวออสเตรเลีย Glenn Murcutt ผู้ที่ได้รับรางวัล Pritzker Prize นิทรรศการนี้มีจุดเริ่มต้นที่ Gallery Ma โตเกียว ในปี 2008 หลังจากนั้นได้ถูกดัดแปลงรูปแบบให้เป็น Touring Exhibition โดย Architecture Foundation Australia จัดแสดงมาแล้ว ทั้งไทเป เวียนนา เฮลซิงกิ บรัสเซิลล์ มอนทรีอัล ฟีนิกซ์ และกลาสโกลว์ การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการจัดนิทรรศการคุณภาพระดับโลก
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ เตรียมจัดงานนิทรรศการระดับโลก 'Glenn Murcutt : Architecture For Place' ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 8 เมษายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อาคารเคเอ็กซ์) ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นลักษณะ Touring Exhibition ที่แสดงผลงานของสถาปนิกชาวออสเตรเลีย Glenn Murcutt เป็นสถาปนิกที่รู้จักในระดับนานาชาติ และมีชื่อเสียงก้องโลกด้วยปรัชญา 'แตะต้องผืนดินอย่างบางเบา' ('touch the earth lightly') Murcutt เป็นผู้ที่รณรงค์อย่างแข็งขันในเรื่องการใช้วัสดุจากแหล่งทรัพยากรยั่งยืน และสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ผลงานเขาเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีความเรียบง่ายและสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของวัสดุ เช่น โลหะ ไม้ กระจก อิฐ และคอนกรีต มาเลือกให้เหมาะกับการก่อสร้างในเรื่องของพลังงานเป็นหลัก การออกแบบที่เป็นงานเฉพาะตัวของ Murcutt ทำให้เขาได้รับรางวัล The Pritzker Architecture Prize ในปี 2002 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่งานสถาปัตยกรรมดีเด่น ที่มีคุณภาพในระดับสากล รวมถึงรางวัลเหรียญทองสถาบันสถาปนิกอเมริกันในปี ค.ศ. 2009 ด้วย โดยในงานนิทรรศการจะมีการจัดแสดงหุ่นจำลองที่สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวออสเตรเลีย พร้อมฝาครอบใสที่มีรูปติดสลักอยู่ 4 ชุด รวมทั้งมีวิดีโอ 12 นาที แสดงบทสนทนาของ Glenn Murcutt และPresentation 8 ผลงานของ Glenn Murcutt ซึ่งใช้พื้นที่ในการจัดแสดง 350 - 400 ตารางเมตร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการจัดนิทรรศการคุณภาพระดับโลก เพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดและการเรียนรู้ในหมู่สถาปนิกและผู้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ ให้คนไทยได้มีโอกาสสัมผัส และเรียนรู้ผลงานของสถาปนิกผู้โด่งดัง ในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ถือเป็นแรงบันดาลใจในการสรรสร้างผลงาน ที่ใช้ความละเอียดอ่อนในกระบวนการคิดและออกแบบซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างผลงานที่มีคุณภาพต่อไป โดยทางสมาคมได้เล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพสถาปนิกไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ รวมถึงผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรม และนิทรรศการนี้จะช่วยส่งเสริมการรับรู้งานสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากประเทศออสเตรเลียในประเทศไทยด้วย "เราตั้งใจจัดงานขึ้นเพื่อทุกคน นี่เป็นครั้งแรกของวงการวิชาชีพที่เราได้มีโอกาสนำผลงานที่เคยจัดแสดงมาแล้วในหลายเมืองทั่วโลกมาจัดให้ชมถึงบ้านเรา นับเป็นการเปิดโลกทัศน์การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็สามารถจัดแสดง Exhibition ใหญ่ๆ แบบนี้ได้ ทางสมาคมฯ ขอขอบคุณ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย Mr. Paul Robilliard Architecture Foundation Australia และ TOTO และ GALLERY MA, Tokyo รวมถึงสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการเป็นเจ้าภาพร่วม และได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แบลคมอร์ส จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ที่ทำให้นิทรรศการระดับโลก 'Glenn Murcutt : Architecture For Place' เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย งานนี้จะแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะนำงานระดับนานาชาติจากที่อื่นๆ เข้ามาจัดแสดงได้ รวมถึงจะนำผลงานของเราแลกเปลี่ยนเพื่อไปจัดแสดงที่ต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน เป็นการต่อยอด ขยายเครือข่ายในระดับเวิลด์วายด์" นายอัชชพลเผย
ผศ.ดร.กมล จิราพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการข้อมูล-ข่าวสาร สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดเผยว่า "ความน่าสนใจอยู่ตรงเนื้อหาของนิทรรศการ ได้คัดสรรผลงานบางส่วนที่สร้างเสร็จของ Murcutt มาแสดงพร้อมกับวิธีการทำงานของเขาผ่านภาพเขียน (drawings) ภาพถ่ายฝีมือ Anthony Browell ได้บันทึกอย่างสละสลวย ถึงหัวใจสำคัญของงานออกแบบของ Murcutt คือความกลมกลืนระหว่างอาคารและธรรมชาติ นิทรรศการนี้ได้ให้ความสำคัญกับงานประเภทบ้านพักส่วนตัวของ Murcutt ที่ไม่เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชม นอกจากนั้นยังมีอาคาร Arthur and Yvonne Boyd Art Center ที่ Riversdale, New South Wales ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล ด้วยความมุ่งมั่นด้านการรักษาความยั่งยืนของของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ งานของ Murcutt จึงถูกจัดอยู่แถวหน้าของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยมีความชัดเจนด้านรูปทรงของอาคาร และความประณีตในรายละเอียด แต่ยังคงยึดหลักของการนำเอาองค์ประกอบอันทรงค่าจากสภาพแวดล้อมเข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย Murcutt อธิบายว่าเขาคิดด้วยการขีดเขียน เขาถือว่างานสถาปัตยกรรมคือเส้นทางแห่งการค้นพบ การขีดเขียนสำหรับเขาแล้วคือหัวใจสำคัญของการค้นพบ มือที่กำลังขีดเขียนอยู่จะพบกับคำตอบได้ก่อนที่สมองจะเข้าใจเสียอีก งานนิทรรศการนี้ได้นำเสนอภาพเขียนด้วยมือของเขาที่จะนำพาผู้ชมให้เดินตามเส้นทางการสร้างสรร ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการออกแบบ ตั้งแต่แบบร่างไปจนถึงแบบแสดงรายละเอียดงานก่อสร้าง"
อาจารย์ปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และประธานคณะทำงาน "งาน 'Architecture for Place' - Glenn Murcutt Exhibition นับเป็นครั้งแรกระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่ได้ร่วมงานกัน โดยงานนิทรรศการระดับโลกครั้งนี้ จัดในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เป็นความโชคดีของนักเรียนที่ตั้งใจศึกษาต่อด้านสถาปัตย์ รวมถึงนิสิต นักศึกษา ไม่ว่าจะเรียนสาขาใด หรือสถาปนิก นักออกแบบมืออาชีพทุกแขนง ที่จะได้สัมผัสกับผลงานของสถาปนิกผู้ที่ได้จัดแสดงผลงานมาแล้วทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริม เช่นการบรรยายในวันเปิดงานโดย Professor Linsey Johnston, ผู้แทนจาก Architecture Foundation Australia ตลอดจนกิจกรรมด้านวิชาการ นวัตกรรมด้านการก่อสร้าง การประหยัดพลังงานและอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงยังได้แทรกผลงานของสถาปนิกเหล่านั้น จัดเป็น Exhibition คู่ขนานไว้ในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย และเชื่อมั่นว่าจากงาน 'Architecture for Place' - Glenn Murcutt Exhibition นี้ เราจะได้มุมมองที่สด ใหม่ และอาจพบว่าการเรียนนอกห้องเรียนที่สนุกและมีความหมายนั้นมีอยู่จริง"
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการ 'Architecture for Place' - Glenn Murcutt Exhibition สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 8 เมษายน 2561 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาคารเคเอ็กซ์ ถ.กรุงธนบุรี เขตคลองสาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมสถาปนิกสยามฯ โทร.02-3196555 รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้ที่ เพสบุคส์ ชื่อ Pageสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ www.asa.or.th