คต. เชิญชวนผู้ส่งออกขอคืนสิทธิ GSP สหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าสำหรับปี 2550 สหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้ยื่นคำร้องเพื่อขอคืนสิทธิ GSP กรณีการขอยกเว้นเพดานการส่งออก (CNL Waiver) ได้ ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกสินค้าใดที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการจัดทำคำร้องให้ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดการยื่นคำร้อง และกรมการค้าต่างประเทศจะได้มีหนังสือสนับสนุนการขอคืนสิทธิในนามประเทศไทยต่อไป
ตามกลไกระบบ GSP สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้มีการทบทวน GSP เป็นประจำทุกปี สำหรับสินค้าที่ได้ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว ซึ่งผู้ส่งออกสามารถดำเนินการขอคืนสิทธิ GSP ได้ 3 กรณี คือ
(1) การขอยกเว้นเพดานการส่งออก (CNL Waiver) เป็นกรณีที่สินค้าถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว และมูลค่าการส่งออกในปีต่อมามีแนวโน้มเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด (สำหรับปี 2550 เท่ากับ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งผู้ส่งออกและผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอคืนสิทธิ GSP ได้ และหากได้รับการคืนสิทธิ GSP สินค้านั้นจะสามารถส่งออกได้โดยไม่มีเพดานการส่งออกในปีต่อมา
(2) การยื่นขอคืนสิทธิกรณีปกติ (Redesignation) เป็นกรณีที่สินค้าถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว และมูลค่าการส่งออกภายหลังถูกตัดสิทธิต่ำกว่าเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด (CNL) ผู้ส่งออกและผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอคืนสิทธิ GSP กรณีปกติได้เช่นกัน
(3) การยื่นขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ (De Minimis Waiver) เป็นกรณีที่สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าของสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50 แต่มูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้านั้นจากทั่วโลกมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด (ปี 2550 เท่ากับ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผู้ส่งออกและผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิได้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. — ส.ค. 2550) ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 14,784.89 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 18 อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549จากสถิติการส่งออกดังกล่าว เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) มีมูลค่า 2,654.16 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 2,761.42 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ