กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าสานต่อพันธกิจเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ตามกรอบ "SIGMA" คือ "S" หรือ Cyber Security : ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ "I" หรือ Infrastructure : โครงสร้างพื้นฐาน "G" หรือ Digital Government : รัฐบาลดิจิทัล "M" หรือ Digital Manpower : กำลังคน และ "A" หรือ Applications : ธุรกิจและการประยุกต์ เป็นแนวทางในการดำเนินงานปี 2561 พร้อมบูรณาการ 19 กระทรวง ขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น "ดิจิทัลไทยแลนด์" อย่างแท้จริง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในกิจกรรม Meet the Press ตามโครงการสื่อสารเชิงรุกของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้พูดคุย-ซักถามข้อมูลข่าวสารจากรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ว่า ในปี 2560 กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินงานสำคัญเกี่ยวกับการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยปัจจุบันถือว่าโลกดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการดำรงชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก กระทรวงดิจิทัลฯ จึงกลายเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันยุคสมัย ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้ทำงานลำพังเพียงกระทรวงเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นหน่วยงานหลักในการผสานและเชื่อมโยงกับ 19 กระทรวงที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน
สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 กระทรวงดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นต่อยอดการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (โครงการเน็ตประชารัฐ) ภายหลังได้มีการติดตั้งโครงข่ายแล้วเสร็จครบทั้ง 24,700 หมู่บ้าน ตามเป้าหมายในปี 2560 ซึ่งในปี 2561 จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกกว่า 10,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ห่างไกลหรือชายขอบ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตให้แล้วเสร็จเท่านั้น ในปี 2561 นี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังจะดำเนินโครงการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งาน เน็ตประชารัฐแก่ประชาชน โดยเป็นการต่อยอดของ "วิทยากรแกนนำ" กว่า 1,000 คน ที่ได้จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐและการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนต่างๆ สร้างการเรียนรู้ ในการใช้ประโยชน์ และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วอย่างรู้เท่าทัน เป็นผู้แทนของกระทรวงดิจิทัลฯ ไปสร้างการรับรู้ให้กับผู้นำหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐให้มีความรู้อีกกว่า 100,000 คน ภายในปีนี้ และไปขยายผลสร้างความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 คน ต่อไป
นอกจากนั้น ในด้านของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลหลายฉบับ โดยเฉพาะในกลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ซึ่งกฎหมายต่างๆ ที่ร่างขึ้นนี้ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคง และอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องที่สำคัญๆ ของประเทศ เช่น การคลัง ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น ทั้งนี้ จากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 17 (The 17th ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting : 17th TELMIN) ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านไอซีที ได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น และมีมติจัดตั้ง "ศูนย์เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของอาเซียน" ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับบุคลากรด้านไอทีให้กับ 10 ประเทศอาเซียน ปีละมากกว่า 150 คน เพื่อร่วมกันทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
สำหรับโครงการ Big Data หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ กระทรวงดิจิทัลฯ จะนำข้อมูลที่มีความพร้อมออกมาเริ่มใช้ก่อนในปี 2561 อาทิ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านไฟฟ้า การประปา เป็นต้น ซึ่งหาก Big Data ที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง สามารถนำมาใช้ได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีกับประเทศ เพราะจะทำให้ไทยมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม และถือเป็นการส่งเสริมการบูรณาการของภาครัฐ
และโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยได้ดำเนินการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ใน 6 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ 1 เมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปี 2562 จะมีเพิ่มเมืองอัจฉริยะเป็น 9 จังหวัด ปี 2563 เพิ่มเป็น 30 จังหวัด ปี 2564 เพิ่มเป็น 50 จังหวัด และในปี 2565 จะมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ในปี 2561 อยู่ภายใต้แนวทางการทำงานหลัก 5 ด้าน หรือ SIGMA ประกอบด้วย "S" คือ Cyber Security หรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ "I" คือ Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐาน "G" คือ Digital Government หรือ รัฐบาลดิจิทัล "M" คือ Digital Manpower หรือ กำลังคนดิจิทัล และ "A" คือ Applications หรือ ธุรกิจและการประยุกต์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อนำพาประเทศไปสู่ "ดิจิทัลไทยแลนด์" อย่างเป็นรูปธรรม